ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๑๒๘ ประจำวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๐
เพลี้ยไก่แจ้ทุเรียน (Durian Psyllids)
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในภาคตะวันออกของประเทศไทย ระวังการเข้าทำลายของเพลี้ยไก่แจ้ทุเรียน โดยเฉพาะระยะแตกใบอ่อน ซึ่งข้อมูลจากแปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชพบเพลี้ยไก่แจ้ในจังหวัดจันทบุรี ระยอง และจังหวัดตราด ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบเพลี้ยไก่แจ้เข้าทำลาย ให้รีบป้องกันกำจัดทันที และแจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน เพื่อหาแนวทางควบคุม และป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Allocaridala maleyensis Crawford
วงศ์ : Psyllidae
อันดับ : Homoptera
ชื่ออื่น : เพลี้ยไก่ฟ้า
รูปร่างลักษณะ
ตัวเต็มวัยจะวางไข่เป็นกลุ่มๆ เข้าไปในเนื้อเยื่อของใบพืช มีลักษณะเป็นตุ่มสีเหลืองหรือน้ำตาล แต่ละกลุ่มมีไข่ประมาณ ๕ - ๑๔ ฟอง หลังจากนั้นไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนซึ่งมีขนาดเล็กมากขนาดประมาณ ๑ มิลลิเมตร และเมื่อพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะต่อไปจะมีขนาดใหญ่ขึ้นยาวประมาณ ๓ มิลลิเมตร มีปุยสีขาวติดอยู่ตามลำตัวโดยเฉพาะที่ด้านท้ายของลำตัวจะมีปุยยาวสีขาวคล้ายๆ กับหางไก่ จึงได้ชื่อว่า “เพลี้ยไก่แจ้” หรือ “เพลี้ยไก่ฟ้า” เมื่อตัวอ่อนลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยจะไม่ค่อยบิน นอกจากจะถูกรบกวน แมลงชนิดนี้มีระบาดในท้องที่ซึ่งปลูกทุเรียนทั่วไป และระบาดในช่วงทุเรียนแตกใบอ่อน
ลักษณะการทำลาย
ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเพลี้ยไก่แจ้ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อนของทุเรียนทำความเสียหายอย่างมาก ทำให้ใบอ่อนเป็นจุดสีเหลือง ไม่เจริญเติบโต เมื่อระบาดมากๆ จะทำให้ใบหงิกงอ และถ้าเพลี้ยไก่แจ้เข้าทำลายในช่วงที่ใบอ่อนยังเล็กมากและใบยังไม่คลี่ออกจะทำให้ใบแห้งและร่วง ตัวอ่อนของแมลงชนิดนี้จะขับสารเหนียวสีขาวออกมาปกคลุมใบทุเรียนเป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อราตามบริเวณที่สารชนิดนี้ถูกขับออกมา ระยะตัวอ่อนเป็นระยะที่แมลงชนิดนี้ทำความเสียหายมากที่สุด และทำความเสียหายให้กับทุเรียนพันธุ์ชะนีมากที่สุด
พืชอาหาร
เพลี้ยไก่แจ้มีพืชอาศัยอย่างเดียว คือ ทุเรียน
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
๒. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติไว้ควบคุมเพลี้ยไก่แจ้ตามธรรมชาติ เช่น
- แมลงช้างปีกใส Chrysopa sp.
- แมลงช้างปีกใสแปดจุด Ankylopteryx octopunctata
- แมลงช้างปีกสีน้ำตาล Hemerobius sp.
- ด้วงเต่า Menochilus sexmaculatus
- ด้วงเต่าโรโดเลีย Rodolia sp.
- ด้วงเต่า Scymnus sp.
- ต่อหลวง ต่อรัง แมงมุม
๓. ใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลืองล่อตัวเต็มวัยมาทำลาย
๔. ใช้น้ำพ่นใบอ่อนที่คลี่แล้วเพื่อลดปริมาณเพลี้ยไก่แจ้
๕. หากจำเป็นต้องพ่นสารเคมีกำจัดแมลง ให้ใช้เมื่อพบยอดถูกทำลายมากกว่าร้อยละ ๕๐ ต่อต้น หรือยอดที่พบไข่มากกว่าร้อยละ ๒๐ ต่อต้น ดังนี้
- เอ็นโดซัลแฟน ๓๕% EC อัตรา ๕๐ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
- บูโพรเฟซิน ๒๕% WP อัตรา ๒๐ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตรหรือ
- บูโพรเฟซิน ๕๐% WP อัตรา ๑๐ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
ฤดูถัดไป
๖. กระตุ้นการแตกใบอ่อนให้พร้อมกันทุกต้นเพื่อลดช่วงเวลาการเข้าทำลายของเพลี้ยไก่แจ้ให้สั้นลง โดยใช้ปุ๋ยยูเรีย (๔๖-๐-๐) อัตรา ๒๐๐ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร พ่นที่ใบปริมาณ ๑๐ ลิตรต่อต้น จำนวน ๒ ครั้ง ดังนี้
- ระยะแตกใบอ่อน ครั้งที่ ๑ ระหว่างเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม
- ระยะแตกใบอ่อนครั้งที่ ๒ ระหว่างเดือนสิงหาคม - กันยายน
ที่มา : ๑. สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร
๒. สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร
เรียบเรียงโดย : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 02/10/2560