ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๗ ประจำวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๖๑
หนอนเจาะผลทุเรียน (ภาคตะวันออก)
เตือนเกษตรกรชาวสวนทุเรียนทางภาคตะวันออกของประเทศ ช่วงนี้ทุเรียนอยู่ในช่วงออกดอกจนถึงระยะการพัฒนาของผล ควรระวังการระบาดของหนอนเจาะผลทุเรียน ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญของทุเรียนที่พบระบาดทั่วไปในแหล่งปลูกทุเรียนเป็นประจำ โดยผีเสื้อหนอนเจาะผลทุเรียนเข้ามาวางไข่บนผลทุเรียนอ่อน ผลทุเรียนที่ถูกหนอนทำลายจะเน่า และร่วง เนื่องจากมีเชื้อราเข้าทำลายซ้ำ ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจสวนทุเรียนอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบการทำลายให้รีบแจ้งหรือขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อหาแนวทางการควบคุม และป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Conogethes punctiferalis Guenee
วงศ์ : Pyralidae
อันดับ : Lepidoptera
ชื่ออื่น : หนอนเจาะผลละหุ่ง
รูปร่างลักษณะ
ตัวเต็มวัยของหนอนเจาะผลทุเรียนเป็นผีเสื้อกลางคืน มีสีเหลืองและมีจุดสีดำกระจายทั่วปีก เมื่อกางปีกออกกว้างประมาณ ๒.๓ เซนติเมตร ผีเสื้อจะวางไข่ที่ผลทุเรียน เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอนมีสีขาว หัวสีน้ำตาล เมื่อตัวหนอนมีอายุมากขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน แล้วพัฒนาเป็นสีน้ำตาลเข้มและมีจุดสีดำทั่วลำตัว หนอนที่โตเต็มที่ขนาดยาวประมาณ ๑.๕ - ๑.๘ เซนติเมตร แมลงชนิดนี้พบทั่วไปตลอดทั้งปีเนื่องจากมีพืชอาศัยกว้าง
ลักษณะการทำลาย
หนอนเจาะผลจะเข้าทำลายทุเรียนตั้งแต่ผลยังเล็ก อายุประมาณ ๒ เดือน ไปจนถึงผลใหญ่ทำให้ผลเน่าและร่วง เนื่องจากเชื้อราเข้าทำลายซ้ำ การที่ผลมีรอยแมลงทำลายทำให้ผลผลิตมีคุณภาพต่ำขายไม่ได้ราคา ถ้าหากหนอนเจาะกินเข้าไปจนถึงเนื้อจะทำให้บริเวณดังกล่าวเน่าเมื่อผลสุก ภายนอกผลทุเรียนจะสังเกตเห็นมูลและรังของหนอนได้อย่างชัดเจน และจะมีน้ำไหลเยิ้มเมื่อทุเรียนใกล้แก่ หนอนจะเข้าทำลายผลทุเรียนที่อยู่ติดกันมากกว่าผลที่อยู่เดี่ยวๆ เพราะหนอนที่เพิ่มฟักออกจากไข่ชอบอาศัยที่รอยสัมผัสนี้
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงทุเรียนเริ่มออกดอก
๒. เมื่อทุเรียนอยู่ระยะพัฒนาของผล ให้ตรวจดูตามผลทุเรียนเมื่อพบรอยทำลายของหนอนให้ใช้ไม้หรือลวดแข็งเขี่ยตัวหนอนออกมาทำลาย
๓. ผลทุเรียนที่เน่าและร่วงเพราะถูกหนอนทำลายควรเก็บมาเผาไฟหรือฝัง
๔. ตัดแต่งผลทุเรียนที่มีจำนวนมากเกินไป โดยเฉพาะผลที่อยู่ติดกันควรใช้กาบมะพร้าวหรือกิ่งไม้กั้นระหว่างผล เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเต็มวัยวางไข่หรือตัวหนอนเข้าหลบอาศัย
๕. เมื่อผลทุเรียนมีอายุ ๖ สัปดาห์ การห่อผลด้วยถุงพลาสติกสีขาวขุ่นเจาะรูที่บริเวณขอบล่างเพื่อให้หยดน้ำระบายออกจะช่วยลดความเสียหายได้
๖. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เช่น แตนเบียน Apanteles sp.
๗. เมื่อจำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลง แนะนำดังนี้
- แลมบ์ดาไซฮาโลทริน (คาราเต้ ๕% อีซี) อัตรา ๒๐ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ
- คลอร์ไพรีฟอส (ลอร์สแบน ๔๐% อีซี) อัตรา ๒๐ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ
- คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ ๒๐% อีซี) อัตรา ๕๐ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
ที่มา : ๑. สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร
๒. สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
เรียบเรียงโดย : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 01/02/2561