ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๗๕ ประจำวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๑
โรคกาบใบแห้ง (Sheath blight Disease)
เตือนเกษตรกรที่ปลูกข้าวที่ข้าวอยู่ในระยะแตกกอถึงออกรวง โดยเฉพาะในภาคตะวันออกและภาคกลาง เนื่องจากช่วงนี้ฝนตกกระจายหลายพื้นที่ สภาพอากาศมีความชื้นสูง เหมาะต่อการระบาดของโรคกาบใบแห้ง โดยเฉพาะในข้าวที่มีการแตกกอมาก ดังนั้น เกษตรกรในจังหวัดดังกล่าว และจังหวัดใกล้เคียง หมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเริ่มพบใบข้าวมีอาการแผลสีเขียวปนเทาตามกาบใบตรงบริเวณใกล้ระดับน้ำ หากรุนแรงแผลสามารถลุกลามถึงใบธงและกาบหุ้มรวงข้าวทำให้ใบและกาบใบเหี่ยวแห้ง ให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อดำเนินการหาแนวทางควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Rhizoctonia solani
ลักษณะอาการ
เริ่มพบโรคในระยะข้าวแตกกอจนถึงระยะใกล้เก็บเกี่ยว ยิ่งต้นข้าวมีการแตกกอมากก็จะเบียดเสียดกันมากขึ้น ทำให้โรคมีความรุนแรง ลักษณะแผลสีเขียวปนเทา ปรากฏตามกาบใบตรงบริเวณใกล้ระดับน้ำ แผลจะลุกลามขยายใหญ่ขึ้นจนมีขนาดไม่จำกัดและลุกลามขยายขึ้นถึงใบข้าว ถ้าเป็นพันธุ์ข้าวที่อ่อนแอ แผลสามารถลุกลามถึงใบธงและกาบหุ้มรวงข้าว ทำให้ใบและกาบใบเหี่ยวแห้ง ผลผลิตจะลดลงอย่างมาก
การแพร่ระบาด
พบมาก ในนาชลประทาน ภาคกลาง ภาคเหนือ และ ภาคใต้ เชื้อราสามารถสร้างเม็ดขยายพันธุ์ อยู่ได้นานในตอซังหรือวัชพืชในนาตามดินนา และมีชีวิตข้ามฤดูหมุนเวียนทำลายข้าวได้ตลอดฤดูการทำนา
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. สำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกสัปดาห์
๒. ใช้พันธุ์ต้านทาน เช่น กข ๑๓
๓. หลังเก็บเกี่ยวข้าวควรเผาตอซัง และพลิกไถหน้าดิน เพื่อทำลายส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อรา
๔. กำจัดวัชพืชตามคันนาและแหล่งน้ำ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อราสาเหตุโรค
๕. พ่นด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา และบาซิลัส ซับทิลิส อัตราตามคำแนะนำในบริเวณที่เริ่มพบโรคระบาดไม่จำเป็นต้องพ่นทั้งแปลงเพราะโรคกาบใบแห้งจะเกิดเป็นหย่อมๆ
๖. หากจำเป็นต้องใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น โพรพิโคนาโซล เพนไซคูรอน ๒๕% ดับบลิวพี ตามอัตราตามฉลาก
ที่มา : ๑. สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขต 1 จังหวัดเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร
๒. องค์ความรู้เรื่องข้าว กรมการข้าว
ที่ปรึกษา : นางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
นางสาวสุมนา สิมาสฤษฏ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช
เรียบเรียงโดย : นางสาวเบญจมาภรณ์ ชุ่มจิตร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 21/08/2561