ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๙๔ ประจำวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๐
โรคใบขาวอ้อย
เตือนเกษตรกรที่ปลูกอ้อย เนื่องจากพบโรคใบขาวอ้อยจากข้อมูลแปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูอ้อยในเขตภาคเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะจังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดพิจิตร ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดกาฬสินธุ์ อุดรธานี สกลนคร และจังหวัดขอนแก่น ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอ้อยอย่างสม่ำเสมอ หากเกษตรกรตรวจพบอ้อยในไร่เป็นโรคนี้ให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน เพื่อรีบกำจัดอย่างเร่งด่วนเพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้การระบาดแพร่ขยายเป็นวงกว้างและทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตลดลง ๓๐ - ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ปีถัดไปอาจจะเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ทั้งยังทำให้เกษตรกรไม่สามารถไว้ตอหรือเก็บท่อนพันธุ์ไว้ทำพันธุ์ต่อได้
เชื้อสาเหตุ : เชื้อไฟโตพลาสมา
ลักษณะอาการ
อาการใบขาวสามารถเกิดขึ้นได้กับอ้อยทุกระยะการเจริญเติบโต อ้อยที่เป็นโรคจะแสดงอาการผิดปกติได้ตั้งแต่เริ่มงอกไปจนกระทั่งเก็บเกี่ยว โดยอาการจะปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนในระยะกล้า อ้อยจะแตกกอฝอยมีหน่อเล็กๆ ที่มีใบสีขาวจานวนมาก คล้ายกอหญ้า หน่อไม่เจริญเป็นลำ หากอาการโรครุนแรงอ้อยจะแห้งตายทั้งกอในที่สุด หากหน่ออ้อยในกอเจริญเป็นลำได้ ลำอ้อยที่ได้จะไม่สมบูรณ์ อาจมีใบขาวที่ปลายยอด หรือมีหน่อขาวเล็กๆ งอกจากตาข้างของลำ บางครั้งอาการของโรคจะมีลักษณะแฝง พบเสมอในอ้อยปลูกปีแรก โดยอ้อยที่เป็นโรคเจริญเติบโตเป็นลำ มีใบสีเขียวคล้ายอ้อยปกติ มีเพียงหน่อขาวเล็กๆ ที่โคนกอ แต่อาการโรคจะปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนในอ้อยตอในระยะเวลาต่อมา รวมทั้งแหล่งระบาดที่สำคัญของโรค ซึ่งเมื่อนำอ้อยที่มีอาการแฝงคล้ายอ้อยปกติดังกล่าวไปปลูกต่อก็จะทำให้โรคระบาดต่อไปได้อย่างกว้างขวางอาการของโรคปรากฏทั้งบนอ้อยปลูกและอ้อยตอ ในบางครั้งพบว่าอ้อยเป็นโรคตั้งแต่เริ่มปลูก บางครั้งพบเมื่อเป็นอ้อยตอ ทั้งนี้ อาจจะเนื่องจากปริมาณของเชื้อสาเหตุของโรคว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด พอที่จะทำให้อ้อยแสดงอาการของโรคหรือไม่
แปลงอ้อยที่ปลูกในช่วงหน้าฝนจะพบอาการโรคระบาดรุนแรง เนื่องจากจะพบแมลงพาหะมากในฤดูฝนระหว่างปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน และพบน้อยในฤดูแล้งระหว่างปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ดังนั้น อ้อยที่ปลูกเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน จะไม่ค่อยพบอ้อยแสดงอาการ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีแมลงพาหะน้อยอ้อยมีโอกาสน้อยที่จะติดเชื้อในระยะกล้าจนกว่าอ้อยจะโต เมื่อแมลงพาหะระบาดใหม่ในฤดูฝน ต่อมาใกล้ตัดอ้อยอ้อยจึงแสดงอาการโรคช้า และจะแสดงอาการในอ้อยตอเป็นส่วนใหญ่
การแพร่ระบาด
๑. ติดไปกับท่อนพันธุ์ที่มีเชื้อแฝงเป็นสาเหตุหลัก
๒. เพลี้ยจักจั่นสีน้ำตาลเป็นแมลงพาหะ ๒ ชนิด คือ
- Matsumuratettix hiroglyphicus
- Cicadulina bipunctella
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. เตรียมแปลงพันธุ์ที่จะมาขยายปลูกโดยใช้พันธุ์ที่ทนทานและแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำร้อน ๕๐ องศาเซลเซียส นาน ๒ ชั่วโมง หรือ ๕๒ องศาเซลเซียส นานครึ่งชั่วโมงก่อนปลูก
๒. ปลูกอ้อยข้ามแล้งเพื่อหลีกเลี่ยงแมลงพาหะซึ่งมีมากในฤดูฝน โดยปลูกในเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคมในภาคตะวันตก
๓. ในกรณีพบการระบาดมากให้ไถทิ้งทั้งแปลง แล้วปลูกพืชตระกูลถั่วหมุนเวียนก่อนปลูกอ้อยรอบใหม่ เพื่อตัดวงจรของโรคและแมลงพาหะ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีอ้อยพันธุ์ต้านทาน
๔. ขุดทำลายกออ้อยที่เป็นโรคออกจากแปลงแล้วนำไปเผาทำลายทิ้งหรืออาจใช้สารกำจัดวัชพืชพ่นต้นที่เป็นโรค
๕. กำจัดวัชพืชรอบๆ แปลง ไปพร้อมกับการทำลายกอเป็นโรค เพื่อทำลายแหล่งอาศัยของแมลงพาหะนำโรค
๖. ให้ความร่วมมือกันกำจัดโรคใบขาวอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูการผลิต และตลอดไปจนกว่าโรคใบขาวจะหมดไป
ที่มา : กลุ่มส่งเสริมพันธุ์พืชปลอดโรค กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร
เรียบเรียงโดย : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร
Update Date : บันทึกเมื่อ : 05/07/2560