ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๓๐ ประจำวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๑
โรคพุ่มแจ้มันสำปะหลัง (Witche's broom)
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญของประเทศในภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว นครนายก ปราจีนบุรี นครราชสีมา ศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี แม้กระทั่งจังหวัดในภาคกลางตอนล่าง เช่น จังหวัดกำแพงเพชร เป็นต้น เนื่องจากช่วงนี้สภาพอากาศแห้งแล้ง เหมาะสมต่อการระบาดของโรคโรคพุ่มแจ้ มีเพลี้ยจักจั่นเป็นพาหะนำโรคมาสู่ต้นมันสำปะหลัง ประกอบกับบางพื้นที่ก็เริ่มปลูกมันสำปะหลังในช่วงนี้ บางพื้นที่มันอยู่ในระยะ ๓ - ๔ เดือน จากการสำรวจพื้นที่ปลูกมันตามแหล่งต่างๆ ของประเทศไทย พบอาการของโรคพุ่มแจ้ในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั้งในระยะใกล้เก็บเกี่ยว และเริ่มปลูกใหม่ ทั้งนี้ เก็บตัวอย่างมาตรวจวิเคราะห์หาสาเหตุการเกิดอาการที่แท้จริงและอยู่ในระหว่างรอผลการวิเคราะห์ ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นมันสำปะหลังมีลักษณะแตกยอดเล็กๆ ก้านใบสั้นจำนวนมากเป็นกระจุก ถ้าเป็นโรคนี้ขณะที่ต้นยังอ่อนจะทำให้ต้นไม่โต แคระแกรน อาการคล้ายเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังทำลายให้รีบแจ้งและขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อเตรียมการหาทางป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตต่อไป
เชื้อสาเหตุ : เชื้อไฟโตพลาสมา
ลักษณะอาการ
โรคพุ่มแจ้ของมันสำปะหลังมีรายงานว่าพบในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญของประเทศไทยตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ อาการคล้ายกับการทำลายของเพลี้ยแป้ง โดยเชื้อไฟโตพลาสมาทำให้ท่อลำเลียงอาหารอุดตันทำให้ส่วนยอดแคระแกรน มีการแตกตาข้างมาก ยอดเป็นพุ่ม ใบเล็กลงสีเหลืองซีด และมีใบแห้งติดกิ่งหรือร่วงหล่น ใบที่เป็นโรคจะเริ่มแห้งตายจากใบล่างขึ้นไปถึงที่ปลายยอด ต่อมากิ่งก้านจะแห้งตายจากยอด (Die back) ลำต้นแคระแกรน ท่ออาหารใต้เปลือกลำต้นหรือหัวเปลี่ยนเป็นเส้นสีน้ำตาลดำ หากระบาดรุนแรงมันสำปะหลังจะยืนต้นตาย ผลผลิตลดลงถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์
การแพร่ระบาด
แพร่กระจายผ่านทางท่อนพันธุ์เป็นส่วนใหญ่ และมีเพลี้ยจักจั่นเป็นพาหะนำโรคมาสู่ต้นมันสำปะหลัง
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. ควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ
๒. ใช้พันธุ์ต้านทานหรือพันธุ์ที่ทนทานต่อโรค
๓. ใช้พันธุ์ที่ปลอดโรคจากต้นแม่พันธุ์ที่ไม่มีอาการของโรค
๔. ทำลายต้นที่เป็นโรคออกไปจากแปลง
๕. ปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อป้องกันกำจัดเชื้อโรคจากต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคตกค้างอยู่ในแปลง
๖. หลีกเลี่ยงการขนย้ายท่อนพันธุ์จากแหล่งที่มีโรคไปสู่แหล่งที่ยังไม่เคยมีการระบาด
๗. กำจัดวัชพืชที่แหล่งพักเชื้อ หรือเป็นที่อาศัยของแมลงพาหะนำโรคในแปลง เช่น ต้นสาบม่วง
ที่มา : ๑. กาญจนา วาระวิชะนี, ปริเชษฐ์ ตั้งกาญจนภาสน์ และวันเพ็ญ ศรีทองชัย, การตรวจสอบเชื้อไฟโตพลาสมาสาเหตุโรคพุ่มแจ้ (witches’ broom) ของมันสำปะหลัง
โดยเทคนิคทางอณูชีววิทยา กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช (http://doa.go.th/research/showthread.php?tid=610&pid=612)
๒. ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
๓. การจัดการมันสำปะหลังอย่างยั่งยืนในเอเชียจากงานวิจัยสู่การปฏิบัติ โดย Reinhardt Howeler และ Tin Maung Aye แปลโดย มาลินี พิทักษ์ และ
วิลาวัลย์ วงษ์เกษม
ที่ปรึกษา : นางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
นางสาวสุมนา สิมาสฤษฏ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช
เรียบเรียงโดย : นางสาวเบญจมาภรณ์ ชุ่มจิตร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 09/04/2561