ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๑๓๗ ประจำวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๐
โรคราสีชมพู
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในภาคใต้ และภาคตะวันออกของประเทศไทย ช่วงนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่ สภาพอากาศชื้น เหมาะต่อการเกิดโรคราสีชมพู และจากข้อมูลแปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชพืชพบการเข้าทำลายในหลายจังหวัด เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลง และเฝ้าระวังการเกิดโรคราสีชมพู หากพบอาการของโรคให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัดเพื่อดำเนินการควบคุม และหาทางป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Corticium salmonicolor Berk & Br.
ลักษณะอาการ
เชื้อราเข้าทำลายกิ่งต้นทุเรียนโดยเฉพาะบริเวณง่ามกิ่ง ส่งผลให้ใบมีสีเหลืองร่วงหล่นไปคล้ายกับอาการกิ่งแห้งและใบร่วงที่เกิดจากโรคโคนเน่า จุดสังเกต คือ มีเส้นใยของเชื้อราลักษณะเป็นขุยสีชมพู ปกคลุมบริเวณโคนกิ่งที่มีใบแห้ง ทำให้เปลือกของกิ่งทุเรียนปริแตกและล่อนจากเนื้อไม้ เมื่อถากเปลือกจะพบว่าเนื้อไม้ภายในมีสีน้ำตาล ถ้าเกิดรอบกิ่งจะทำให้กิ่งทุเรียนแห้งตายในที่สุด
การแพร่กระจาย
เชื้อราสาเหตุเป็นราที่เจริญได้ดีในสภาพภูมิอากาศค่อนข้างเย็นและมีความชื้นสูง สามารถสร้างสปอร์ที่ปลิวแพร่กระจายไปกับลม ดิน หรือส่วนของกิ่งพันธุ์ที่เป็นโรคได้
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. เมื่อพบกิ่งเป็นโรคเล็กน้อยควรตัดและเผาทำลาย
๒. ถ้าระบาดรุนแรงควรตัดและเผาทำลาย แล้วพ่นด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราให้ทั่ว โดยเน้นพ่นบริเวณกิ่งในทรงพุ่ม สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราที่แนะนำ ดังนี้
- สารคอปเปอร์ ออกซีคลอไรด์ ๘๕%ดับบลิวพี อัตรา ๕๐ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ
- สารคาร์เบนดาซิม ๖๐% ดับบลิวพี อัตรา๑๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
เรียบเรียงโดย : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 19/10/2560