ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๔๕ ประจำวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๑
โรคโคนเน่า – หัวเน่ามันสำปะหลัง
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในทุกภาคของประเทศไทยเตรียมพร้อมรับมือโรคโคนเน่า – หัวเน่ามันสำปะหลัง โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในแถบ
ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากขณะนี้ในหลายพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสภาพแวดล้อมดังกล่าวเหมาะต่อการระบาดของโรคโคนเน่า – หัวเน่ามันสำปะหลัง ดังนั้น ขอให้เกษตรกรสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ และติดตามสถานการณ์โรคโคนเน่า – หัวเน่ามันสำปะหลัง ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง หากพบต้น
มันสำปะหลังแสดงอาการของโรคโคนเน่า – หัวเน่า ให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรจังหวัด หรือสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน เพื่อดำเนินการป้องกันกำจัดทันที
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Phytophthora spp.
ลักษณะอาการ
ลักษณะอาการที่สามารถมองเห็นได้จากความผิดปกติของต้นมันสำปะหลัง ส่วนที่อยู่เหนือดินจะพบว่า ใบมันสำปะหลังแสดงอาการเหี่ยวเหลือง (มันสำปะหลัง
เบอร์ ๘๙ แสดงอาการชัดเจน) โคนต้นแสดงอาการเน่าเป็นสีน้ำตาลหรือดำ หรือมันสำปะหลังบางพันธุ์โคนต้นมีการสร้างรากค้ำชู (Adventitious root) ขึ้นตรงรอยแตก
ของโคนต้น (มันสำปะหลังเบอร์ ๘๙ แสดงอาการชัดเจน) และเมื่อถอนขึ้นมาหัวมันสำปะหลังแสดงอาการเน่า ถ้าผ่าหรือหักหัวมันสำปะหลังดูจะเห็นภายในเป็นสีน้ำตาล
ในมันสำปะหลังบางพันธุ์มีการเน่าที่โคนและส่วนของหัวที่อยู่ใต้ดิน โดยที่ส่วนของลำต้นและใบยังคงมีลักษณะปกติ หรือบางพันธุ์แสดงอาการรุนแรงยืนต้นตายหรือเน่าตาย
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. ก่อนการปลูก เก็บเศษเหง้า หรือเศษซากมันสำปะหลังเผาทำลายทิ้ง ทำความสะอาดเครื่องจักรกลการเกษตร ควรมีการไถตากดินอย่างน้อย ๒ สัปดาห์
แช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราเมทาแล็คซิล อัตรา ๒๐ - ๔๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร รวมถึงการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาไปหว่านในช่วงการเตรียมดินก่อนปลูก
๒. แปลงปลูกควรมีการยกร่องสูง หรือในบริเวณที่มีน้ำท่วมขังให้ทำร่องเพื่อระบายน้ำออกจากแปลง
๓. สำรวจแปลงอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง ถ้าในช่วงฝนชุกควรตรวจแปลงทุกวัน หากพบการระบาดให้ขุดถอนต้นที่แสดงอาการไปเผาทำลาย จากนั้นบริเวณที่แสดงอาการและโดยรอบห่างออกไปประมาณ ๑ เมตร ให้หว่านปูนขาว หรือโรยเชื้อราไตรโครเดอร์มาบริเวณรอบโคนต้นที่ขุดออก หรือกรณีระบาดรุนแรงมากใช้สารเคมี
ฟอสอีทิล อลูมิเนียม อัตรา ๕๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร ราดต้นละ ๓๐๐ ซีซี หรือพ่นอัตรา ๑๕๐ กรัมต่อไร่
๔. หลังการระบาดผ่านไปแล้ว เมื่อเริ่มการเพาะปลูกในฤดูกาลใหม่ แปลงที่เคยระบาดน้อยหรือปานกลางควรเลื่อนฤดูปลูก เป็นช่วงปลายฤดูฝนเพื่อให้ผลผลิตออกในฤดูแล้ง เลือกใช้พันธุ์ให้เหมาะกับพื้นที่ กำจัดซากพืชออกให้หมด ไถระเบิดดินดานและตากดิน หว่านปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน และแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราก่อนปลูก
*** ถ้าแปลงที่เคยปลูกเสียหายมากกว่าครึ่งหรือมากกว่าร้อยละ ๕๐ ต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น อ้อยและข้าว
ที่มา : กรมวิชาการเกษตร , กรมส่งเสริมการเกษตร
ที่ปรึกษา : นางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
นางสาวสุมนา สิมาสฤษฏ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช
เรียบเรียงโดย : นางสาวเบญจมาภรณ์ ชุ่มจิตร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ
กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 24/05/2561