ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๑๔๙ ประจำวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
โรคราแป้งขาวกุหลาบ (Powdery Mildew Disease)
เตือนเกษตรกรที่ปลูกกุหลาบรวมถึงไม้ตัดดอกหลายชนิด โดยเฉพาะทางภาคเหนือของประเทศไทย ในระยะนี้ควรเฝ้าระวังโรคราแป้งขาว มักพบเมื่อสภาพอากาศหนาวเย็น น้ำค้างลงจัด กลางคืนความชื้นสูง เชื้อสาเหตุโรคสามารถเจริญเติบโต และแพร่ระบาดปลิวไปกับลม ทำความเสียหายรุนแรงในขณะที่สภาพอากาศอุณหภูมิต่ำ ดังนั้นเกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ อาการของโรคพบขุยสีขาวขึ้นปกคลุมทั้งด้านบนและด้านล่างของใบ เนื้อใบที่ถูกทำลายจะพองออก ใบบิดงอ มักเกิดกับใบอ่อน ยอดอ่อนของกุหลาบ ถ้าพบอาการลักษณะดังกล่าว ให้เตรียมการป้องกัน หรือขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน เพื่อหาแนวทางทางป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Sphaerotheca pannosa
ลักษณะอาการ
โรคราแป้งนี้เป็นโรคที่สำคัญชนิดหนึ่งของกุหลาบ และไม้ตัดดอกหลายชนิด ที่ได้ชื่อว่า โรคราแป้ง เนื่องจากเชื้อที่ทำให้เกิดโรคนี้มีลักษณะเป็นผงสีขาวๆ คล้ายผงแป้งเคลือบอยู่บนผิวใบ ทั้งด้านบนและด้านท้องใบ เกิดขึ้นกับใบอ่อนของกุหลาบ เนื้อเยื่อส่วนที่ราเกาะอยู่จะพองออก (ชาวบ้านเรียกโรคใบพอง) ทำให้ใบบิดงอ ถ้าเป็นมากๆ จะมองเป็นบริเวณที่เป็นโรคมีสีม่วงถึงดำ และร่วงหล่นไปในที่สุด ทำให้ต้นแคระแกร็น ที่ดอกพบเชื้อราปกคลุมได้ที่คอดอก กลีบเลี้ยง และฐานดอก ถ้าเป็นกับดอกตูม ดอกจะไม่บาน หรือบานแต่ดอกไม่สมบูรณ์เสียรูปทรง สำหรับบริเวณกิ่ง เชื้อราแป้งจะเริ่มเจริญบนกิ่งอ่อนอวบน้ำ โดยเฉพาะบริเวณโคนของหนาม เชื้อจะยังคงเจริญต่อไปเมื่อเป็นกิ่งแก่ หากรานี้เกิดกับใบแก่ อันตรายไม่มากนัก แต่ควรจะกำจัดโดยการตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคออกเริ่มแรกผิวใบด้านบนจะมีลักษณะนูน อวบน้ำเล็กน้อย บริเวณนั้นจะมีสีแดงและจะสังเกตเห็นเส้นใยขุยและอับสปอร์สีขาวเด่นชัดบนผิว และท้องใบของใบอ่อน
การแพร่ระบาด
โรคราแป้งขาวเป็นโรคที่พบทั่วไป นอกจากกุหลาบแล้วราชนิดนี้มีพืชอาศัยกว้าง ทั้งธัญพืช ผัก หญ้า ไม้พุ่ม ไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ การระบาดส่วนใหญ่จะเกิดจากส่วนขยายพันธุ์ เรียกว่าโคนีเดีย ซึ่งปลิวแพร่กระจายโดยลมหรือติดไปกับสิ่งที่เคลื่อนไหวต่างๆ ที่ไปสัมผัสถูกต้องเข้า เช่น ส่วนของแมลง หรือกิ่งพันธุ์ เมื่อโคนีเดียพวกนี้ตกลงบนใบพืชและมีสิ่งแวดล้อมเหมาะสมก็จะงอกออกมาเป็นเส้นใยภายใน ๓ - ๔ ชั่วโมง จากนั้นก็จะเข้าไปภายในใบพืชโดยผ่านทางปากใบ (stomata) ก่อให้เกิดอาการโรคแล้วสร้างโคนีเดียขึ้นใหม่ได้อีกภายใน ๔ - ๕ วัน สำหรับการระบาดข้ามฤดูส่วนใหญ่ก็จะเกิดจากส่วนขยายพันธุ์อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า oospore ซึ่งติดอยู่ตามเศษซากพืชที่หลงเหลือปล่อยทิ้งไว้ตามดินปลูก หรือติดไปกับเมล็ดพันธุ์ หรือจากเชื้อที่อาศัยอยู่กับต้นที่งอกขึ้นมาเองนอกฤดูปลูกหรือต้นที่ขึ้นอยู่ในบริเวณใกล้เคียงแปลงปลูก
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค เก็บใบที่โคนต้น เผาทำลายทิ้ง
๒. ในช่วงที่มีการระบาดของโรคงดให้ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง เพราะจะทำให้โรคระบาดรุนแรง
๓. หากมีการระบาดมากใช้สารเคมีประเภทที่มีกำมะถันหรือทองแดง พ่นช่วงเช้าหรือเย็น สัปดาห์ละครั้ง
๔. สารเคมีอื่นๆ เช่น เบนเลท, คาราแทน อัตราตามที่ระบุข้างฉลาก
ที่มา : ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรียบเรียงโดย : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 30/11/2560