ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๒๒ ประจำวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๑
ด้วงหมัดผัก (Flea Beetle)
เตือนเกษตรกรชาวสวนผักควรระมัดระวังด้วงหมัดผักระบาด ซึ่งสามารถพบระบาดอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในแหล่งปลูกผักเก่าที่ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำ เช่น คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงอยู่เสมอ หากพบตัวแมลง หรือใบพืชผักถูกกัดกินเป็นรูพรุน ให้รีบดำเนินการป้องกัน หรือขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อการควบคุม และหาทางป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
ในประเทศไทยพบด้วงหมัดผักเข้าทำลายพืชผัก ๒ ชนิด คือ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : ชนิดปีกเหลืองแถบน้ำตาล Phyllotreta flexuosa
ชนิดปีกดำหรือปีกสีน้ำเงินเข้ม Phyllotreta chontanica
วงศ์ : Chrysomelidae
อันดับ : Coleoptera
ชื่ออื่น : หมัดผัก หมัดกระโดด ตัวกระเจ๊า
รูปร่างลักษณะ
ด้วงหมัดผักแถบลายชอบวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ หรือกลุ่มบริเวณโคนต้นพืช เส้นกลางใบพืช และตามพื้นดิน ไข่รูปร่างคล้ายไข่ไก่ขนาด ๐.๑๓ x ๐.๒๗ มิลลิเมตร สีขาวอมเขียว ผิวเรียบเป็นมัน และจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนก่อนฟักเป็นตัว ระยะไข่ ๓ – ๔ วัน ตัวหนอนมีสีขาว ส่วนหัวและส่วนท้องปล้องแรกมีสีน้ำตาล มีจุดสีน้ำตาลตามลำตัวและแผ่นสีน้ำตาลอยู่ทางด้านบนของปล้องสุดท้ายของลำตัว หนอนอาศัยอยู่ในดิน ระยะหนอน ๑๐ – ๑๔ วัน และเข้าดักแด้ในดิน ส่วนปีกและขาของดักแด้แยกจากลำตัวเป็นอิสระเคลื่อนไหวได้ ระยะดักแด้ ๔ – ๕ วัน ตัวเต็มวัยเป็นด้วงขนาดเล็ก ความยาวประมาณ ๒ – ๒.๕ มิลลิเมตร ปีกคู่หน้าสีดำมีแถบเหลืองสองแถบพาดตามความยาว ด้านล่างลำตัวสีดำ ขาคู่หลังขยายใหญ่และโตกว่าขาคู่อื่นๆ หนวดเป็นแบบเส้นด้าย อายุตัวเต็มวัย ๓๐ – ๖๐ วัน ผสมพันธุ์ได้หลายครั้ง เพศเมียแต่ละตัววางไข่ได้ ๘๐ – ๒๐๐ ฟอง ด้วงหมัดผักในประเทศไทยพบ ๒ ชนิด คือชนิดปีกเหลืองแถบน้ำตาล และชนิดปีกดำสีน้ำเงินเข้ม แต่มากกว่า ๘๐% เป็นชนิดปีกเหลืองแถบน้ำตาล ด้วงหมัดมีนิสัยที่สังเกตง่ายคือ เมื่อถูกกระทบ กระเทือนจะกระโดด โดยอาศัยขาหลัง สามารถดีดตัวไปได้ไกล
ลักษณะการทำลาย
ด้วงหมัดผักเป็นแมลงปีกแข็งชนิดเดียวที่เป็นศัตรูสำคัญของผักตระกูลกะหล่ำ เช่น คะน้า กวางตุ้ง กะหล่ำดอก ผักกาดหัว ตัวอ่อนของด้วงหมัดผักชอบกัดกินหรือชอนไชเข้าไปกินอยู่บริเวณโคนต้นหรือรากของผักทำให้ผักเหี่ยวเฉา และไม่เจริญเติบโตถ้ารากถูกทำลายมากๆ ก็อาจทำให้ผักตายได้ ตัวเต็มวัยชอบกัดกินด้านล่างของผิวใบทำให้ใบมีรูพรุน และอาจกัดกินลำต้น และกลีบดอกด้วย
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. การใช้ไส้เดือนฝอย (Nematodic ๒๒) อัตรา ๑ ซอง ๔ ล้านตัว ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร โดยพ่นหรือราดไส้เดือนฝอยบนแปลงปลูกผักทั้งนี้ก่อนใช้ไส้เดือนฝอย ควรพ่นน้ำให้ความชุ่มชื้นแก่พืชก่อนและควรพ่นหลัง ๑๗.๐๐ น.ไปแล้ว ข้อสังเกตสำหรับวิธีนี้คือค่าใช้จ่ายสูงควรใช้กับพืชผักที่มีราคา
๒. ใช้เชื้อแบคทีเรีย (บีที) บาซิลลัส ทูริงเยนซิส เช่น โนโวดอร์เอฟซี โดยพ่นหรือราดทุก ๗ วัน
๓. สารเคมีที่แนะนำให้ใช้ ดังนี้
- คาร์บาริล (เซฟวิน) ๘๕% ดับเบิลยูพี อัตรา ๔๐ – ๖๐ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร ในแหล่งที่ด้วงหมัดผักยังไม่สร้างความต้านทานต่อสารเคมี
- แต่สำหรับแหล่งปลูกผักเก่า แมลงมีความต้านทานต่อสารเคมีควรใช้คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ ) ๒๐% อีซี อัตรา ๕๐-๗๕ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือโพรฟิโนฟอส (ซุปเปอร์ครอน) ๕๐% อีซี อัตรา ๓๐ – ๔๐ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือโพรไทโอฟอส (โตกุโทออน) ๕๐% อีซี อัตรา ๓๐ -๔๐ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
๔. ในการปลูกครั้งต่อไปควรไถตากดินทิ้งไว้ประมาณ ๗ – ๑๕ วัน เพื่อทำลายตัวอ่อนและดักแด้ที่อยู่ใต้ดิน นอกจากนี้ควรเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ด้วงหมัดผักไม่ชอบ หมุนเวียนบ้าง ก็จะช่วยลดการระบาดได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ในการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช เกษตรกรควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และคำนึงถึงความปลอดภัยต่อตัวผู้ใช้และผลผลิตเกษตร
ที่มา : ๑. แมลงศัตรูพืชและการป้องกันกำจัด
๒. The world’s best photo of chrysomelidae
๓. ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรียบเรียงโดย : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 19/03/2561