ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๖๖ ประจำวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๐
หนอนกินใต้ผิวเปลือกลองกอง (ภาคใต้)
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกลองกองทางภาคตะวันใต้ เนื่องจากช่วงนี้สภาพอากาศร้อน บางพื้นที่มีฝนบ้างทำให้อากาศร้อนและชื้น อีกทั้งเป็นช่วงฤดูกาลที่เหมาะต่อการระบาดของหนอนกินใต้ผิวเปลือกลองกอง ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อสำรวจพบหนอนกินใต้ผิวเปลือกลองกอง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านทันที เพื่อหาแนวทางการป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cossus chloratus หนอนกินใต้ผิวเปลือกขนาดใหญ่
Microchlora sp. หนอนกินใต้ผิวเปลือกขนาดเล็ก
วงศ์ : Cossidae
อันดับ : Lepidoptera
รูปร่างลักษณะ
หนอนกินใต้ผิวเปลือกลองกองเป็นหนอนที่ผู้ปลูกลองกองประสบปัญหากันมาก หากมีการระบาดรุนแรงจะกระทบกระเทือนต่อผลผลิต หนอนกินใต้เปลือกลองกองมีด้วยกัน ๒ ชนิด คือ
๑. หนอนกินใต้ผิวเปลือกขนาดใหญ่ ตัวหนอนมีสีแดงอมชมพูหรือน้ำตาลแดง ขนาดตัวใหญ่สุดยาวประมาณ ๔ เซนติเมตร หนอนจะเข้าดักแด้อยู่ใต้เปลือกตามกิ่งและลำต้น ดักแด้มีสีน้ำตาล เข้าดักแด้ประมาณ ๑๑ วัน จะออกเป็นผีเสื้อตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลเทา เมื่อกางปีกออกยาวประมาณ ๔ เซนติเมตร ตัวเมียวางไข่ได้ประมาณ ๘๐๐ - ๑,๐๐๐ ฟอง วางไข่เป็นกลุ่ม ไข่มีลักษณะกลม สีขาวขุ่นอาศัยกัดกินทำลายอยู่ใต้ผิวเปลือกต้นลองกอง
๒. หนอนกินใต้ผิวเปลือกขนาดเล็ก หนอนมีสีขาวครีมหัวสีน้ำตาล ขนาดตัวยาวสุด ๑ - ๓เซนติเมตร หนอนเคลื่อนที่ว่องไว เมื่อถูกรบกวนจะทิ้งใยลงดิน เมื่อเปิดเปลือกจะพบดักแด้อยู่ใต้เปลือกมีใยขาวๆ หุ้มขนาดยาวประมาณ ๑ เซนติเมตร เข้าดักแด้ประมาณ ๘ วัน จะออกเป็นผีเสื้อตัวเต็มวัย ปีกคู่หน้าและคู่หลังมีสีเขียวอ่อน ขนาดเมื่อกางปีกออกยาวประมาณ ๒ เซนติเมตร
ลักษณะการทำลาย
หนอนกินใต้ผิวเปลือกจะกัดกินทำลายอยู่ใต้ผิวเปลือกตามกิ่งและลำต้นระหว่างท่อน้ำและท่ออาหาร ทำให้กิ่งและลำต้นมีลักษณะตะปุ่มตะป่ำ ซึ่งในช่วงหน้าฝนกิ่งจะมีความชื้นสูงและมักมีโรคราสีชมพูเข้าทำลายร่วมด้วย ถ้าหนอนกัดกินบริเวณตาดอกจะทำให้ตาดอกถูกทำลายและผลผลิตลดลง ถ้าทำลายรุนแรงจะทำให้กิ่งแห้ง ต้นแคระแกรน โตช้า และตายในที่สุด
การแพร่ระบาด
หนอนกินใต้ผิวเปลือก Cossus sp. จะพบการเข้าทำลายตลอดทั้งปี ส่วน Microchlora sp. จะพบการเข้าทำลายในช่วงเดือนกรกฎาคม-มกราคม ในช่วงอากาศแห้งแล้ง
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง
๒. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติที่สำคัญของหนอนกินใต้ผิวเปลือกลองกอง ได้แก่ กระรอก กระถิก มดง่าม มด ไส้เดือนฝอย Sterneinema carpocapsae และแมลงหางหนีบ
๓. หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตควรตัดแต่งกิ่งภายในทรงพุ่มให้มีแสงที่พอเหมาะไม่ทึบจนเกินไป และตัดกิ่งที่แห้งตายไปเผาทำลาย
๔. หนอนกินใต้ผิวเปลือกลองกองมักพบระบาดในสวนลองกองที่ขาดการดูแลเอาใจใส่ การดูแลใส่ปุ๋ยและให้น้ำที่เพียงพอจะทำให้ต้นลองกองมีความสมบูรณ์สามารถทนทานต่อการเข้าทำลายของหนอนกินใต้เปลือกได้
๕. การใช้สารเคมีกำจัดแมลงให้คุ้มค่า แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้แนะนำให้ใช้สารเคมี ดังนี้
- ไซเพอร์เมทริน/โฟซาโลน ๖.๒๕% / ๒.๕% EC อัตรา ๔๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ
- คาร์โบซัลแฟน ๒๐% EC อัตรา ๕๐ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ
- คลอร์ไพริฟอส ๔๐% EC อัตรา ๔๐ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร พ่นให้โชกบนลำต้นและกิ่งที่มีร่องรอยการทำลายของหนอนกินใต้ผิวเปลือก
ที่มา : ๑. สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด กรมส่งเสริมการเกษตร
๒. สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร
๓. สมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทย
เรียบเรียงโดย : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 26/05/2560