ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๔๔ ประจำวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๑
จักจั่น (Cicada)
เตือนเกษตรกรชาวไร่อ้อยในภาคตะวันตก และภาคกลาง เฝ้าระวังจักจั่นเข้าทำความเสียหายให้กับอ้อยปลูก โดยเฉพาะในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ราชบุรี
และนครสวรรค์ ซึ่งเคยมีการระบาดเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๕๙ เดิมจักจั่นจัดเป็นศัตรูป่าไม้ สันนิษฐานว่าปัจจุบันป่าไม้ถูกทำลายไปมากอาจมีผลทำให้เสียความสมดุลของระบบนิเวศ ประกอบสภาพแวดล้อมและช่วงเวลาที่เหมาะสมจึงอาจทำให้จักจั่นออกมาทำลายพืชเศรษฐกิจ เช่น อ้อย ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อสำรวจพบจักจั่นให้เตรียมการป้องกันหรือขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อการควบคุม และหาทางป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Platypleura cespiticola Boulard
วงศ์ : Cicadidae
อันดับ : Hemiptera
ชื่ออื่น : -
รูปร่างลักษณะ
การเจริญเติบโตของจักจั่นเป็นแบบไม่สมบูรณ์ คือ ระยะตัวอ่อนมีรูปร่างลักษณะเช่นเดียวกับตัวเต็มวัย ต่างกันที่ตัวอ่อนในระยะแรกไม่มีปีก เมื่อลอกคราบ
ปีกจะค่อย ๆ ยาวออก จากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จักจั่นมีวงจรชีวิต ดังนี้
ระยะไข่ ตัวเมียจะเจาะต้นไม้ให้เป็นรูเล็ก ๆ เพื่อวางไข่ เมื่อไข่ฟักกลายเป็นตัวอ่อนจะร่วงลงสู่พื้นดิน โดยไข่ใช้เวลาฟักประมาณ ๔ เดือน
ระยะตัวอ่อน อาศัยในดินที่ความลึกตั้งแต่ ๓๐ เซนติเมตร ถึงมากกว่า ๒.๕ เมตร ดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากพืช ตัวอ่อนมีขาหน้าขนาดใหญ่สำหรับขุดดิน บางครั้งจะเห็นดินเป็นแท่งทรงกระบอกเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ เซนติเมตร บิดเป็นเกลียวโผล่ขึ้นมาจากดินสูงประมาณ ๕ – ๗ เซนติเมตร คล้ายกับดินที่เกิดจากไส้เดือนแต่มีขนาดใหญ่กว่า ตัวอ่อนใช้เวลาประมาณ ๔ – ๖ เดือน
ระยะตัวเต็มวัย เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตเต็มที่ จะไต่ขึ้นมาบนลำต้นเพื่อลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย ในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ระยะที่เป็นตัวเต็มวัยจะประมาณ ๑ – ๒ เดือน วงจรชีวิตโดยรวมประมาณ ๒ – ๕ ปี แต่มีบางชนิดที่มีวงจรชีวิตยาวนานถึง ๑๗ ปี
จักจั่นตัวผู้สามารถทำเสียงได้ดังมาก มักส่งเสียงร้องในเวลากลางวันมากกว่ากลางคืนส่วนตัวเมียไม่สามารถทำเสียงได้ ชาวเหนือและชาวอีสานมักนำจักจั่น
ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยมาประกอบอาหารนอกจากนี้บางคนก็นำซากตัวอ่อนจักจั่นที่ตายเพราะถูกทำลายโดยเชื้อราชนิด Cordyceps sobolifer ที่มีอยู่ในดิน
ลักษณะการทำลาย
จักจั่นตัวเมียมักจะเจาะต้นเพื่อวางไข่ เมื่อฟักไข่เป็นตัวอ่อนจะทำลายพืชโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากพืช ทำให้ระบบรากเสียหายเกิดอาการเหี่ยว และแห้งตายได้ในที่สุด
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
วิธีการป้องกันกำจัดจักจั่นที่เหมาะสมที่สุด คือ ไม่บุกรุกทำลายป่า นอกจากไม่บุกรุกแล้วยังต้องอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ด้วย เพื่อให้แหล่งอาศัยของแมลงไม่ให้มาทำลายพืชผลเกษตร หากพบการทำลายพืชเศรษฐกิจ เช่น ที่กำลังระบาดในอ้อย ไม่ควรใช้สารเคมีเนื่องจากเป็นการลงทุนสูง และไม่ได้ผล อีกทั้งแมลงชนิดนี้ไม่ได้มีการระบาดเป็นประจำ สำหรับในพื้นที่ที่มีการระบาดให้ใช้วิธีรวมกลุ่มโดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทั้งชุมชน รณรงค์ในการใช้วิธีกล หรือเขตกรรม เช่น การขุดหรือไถพรวนเพื่อจับตัวอ่อนในดินการเก็บตัวเต็มวัยในเวลากลางคืน ดังเช่นที่เคยทำสำเร็จแล้ว ในการรณรงค์เก็บตัวเต็มวัยด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นทุเรียน แมลงนูนหลวง
และด้วงหนวดยาวอ้อย เป็นต้น
ที่มา : ๑. กรมวิชาการเกษตร
๒. กรมส่งเสริมการเกษตร
ที่ปรึกษา : นางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
นางสาวสุมนา สิมาสฤษฏ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช
เรียบเรียงโดย : นางสาวศศิประภา มาราช นักวิชาการเกษตรชำนาญการ
นางสาวเบญจมาภรณ์ ชุ่มจิตร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ
กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 22/05/2561