ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๙๘ ประจำวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐
โรคขอบใบแห้ง (Bacterial Leaf Blight Disease)
เตือนเกษตรกรที่ปลูกข้าวในทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากช่วงนี้ฝนตกกระจายหลายพื้นที่ สภาพอากาศมีความชื้นสูง เหมาะต่อการระบาดของโรคขอบใบแห้ง และจากรายงานสถานการณ์การระบาดศัตรูข้าวของจังหวัดศรีสะเกษพบการระบาดของโรคขอบใบแห้งจำนวน ๕๐ ไร่ ดังนั้น เกษตรกรในจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียงควรหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเริ่มพบใบข้าวมีลักษณะเป็นแผลช้ำที่ขอบใบของใบล่าง หรือแผลเป็นทางสีเหลืองยาวตามใบข้าว ให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อดำเนินการหาแนวทางควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
เชื้อสาเหตุ : เชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas oryzae pv. oryzae (ex Ishiyama) Swings et al.
ลักษณะอาการ
โรคนี้เป็นได้ตั้งแต่ระยะกล้า แตกกอ จนถึงฺ ออกรวง ต้นกล้าก่อนนำไปปักดำจะมีจุดเล็กๆ ลักษณะช้ำที่ขอบใบของใบล่าง ต่อมาประมาณ ๗ -๑๐ วัน จุดช้ำนี้จะขยายกลายเป็นทางสีเหลืองยาวตามใบข้าว ใบที่เป็นโรคจะแห้งเร็ว และสีเขียวจะจางลงเป็นสีเทาๆ อาการในระยะปักดำจะแสดงหลังปักดำแล้วหนึ่งเดือนถึงเดือนครึ่ง ใบที่เป็นโรคขอบใบมีรอยขีดช้ำ ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองที่แผลมีหยดน้ำสีครีมคล้ายยางสนกลมๆ ขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุด ต่อมาจะกลายเป็นสีน้ำตาลและหลุดไปตาม น้ำหรือฝน ซึ่งจะทำให้โรคสามารถระบาดต่อไปได้ แผลจะขยายไปตามความยาวของใบ บางครั้งขยายเข้าไปข้างในตามความกว้างของใบ ขอบแผลมีลักษณะเป็นขอบลายหยัก แผลนี้เมื่อนานไปจะเปลี่ยนเป็นสีเทา ใบที่เป็นโรค ขอบใบจะแห้งและม้วนตามความยาว ในกรณีที่ต้นข้าวมีความอ่อนแอต่อโรคและเชื้อโรคมีปริมาณมาก จะทำให้ท่อน้ำท่ออาหารอุดตัน ต้นข้าวจะเหี่ยวเฉาและแห้งตายทั้งต้นโดยรวดเร็ว เรียกอาการของโรคนี้ว่า ครีเสก (kresek)
การแพร่ระบาด เชื้อสาเหตุโรคสามารถแพร่ไปกับน้ำในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง และสภาพที่มีฝนตก ลมพัดแรง จะช่วยให้โรคแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางรวดเร็ว พบมากในนาน้ำฝน นาชลประทาน ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. ใช้พันธุ์ข้าวที่ต้านทาน เช่น พันธุ์สุพรรณบุรี ๖๐ สุพรรณบุรี ๙๐ สุพรรณบุรี ๑ สุพรรณบุรี ๒ กข๗ และ กข๒๓
๒. ในดินที่อุดมสมบูรณ์ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมาก
๓. ไม่ควรระบายน้ำจากแปลงที่เป็นโรคไปสู่แปลงอื่น
๔. สำรวจแปลงนา อย่างสม่ำเสมอ และควรเฝ้าระวังการเกิดโรคถ้าปลูกข้าวพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคนี้ เช่น พันธุ์ขาวดอกมะลิ ๑๐๕ กข๖ เหนียวสันป่าตอง พิษณุโลก ๒ ชัยนาท ๑ เมื่อเริ่มพบอาการของโรคบนใบข้าว
๕. ใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น เช่น แบคบิเคียว ไอโซโพรไทโอเลน คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ เสตร็พโตมัยซินซัลเฟต+ออกซีเตทตราไซคลินไฮโดรคลอร์ไรด์ ไตรเบซิคคอปเปอร์ซัลเฟต ควรพ่นตั้งแต่พบอาการเริ่มแรก อัตราตามฉลากแนะนำ
๖. ใช้ชีวผลิตภัณฑ์ในการป้องกันการเกิดโรค เช่น Bacillus amyloliquefaciens Bacillus subtilis หรือ Pseudomonas fluorescens โดยหากพบอาการของโรครุนแรงให้พ่นทุก ๗ วัน หรือ คลุกเมล็ดก่อนปลูก อัตราตามฉลากแนะนำ
ที่มา : ๑. กรมการข้าว
๒.ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรียบเรียงโดย : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 13/07/2560