ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๒๓ ประจำวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๑
ไรแดงศัตรูมันสำปะหลัง
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในมันที่เพิ่งปลูกใหม่อายุ ๑ - ๓ เดือน เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้ง กลางวันอากาศร้อนและมีลมพัดแรง ให้ระวังการระบาดของไรแดงศัตรูมันสำปะหลังทำลายยอดอ่อน ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการใบมันสำปะหลังเหลืองซีดเป็นรอยขีด หรือจุดด่างเหลือง ใบม้วนงอ ให้รีบเก็บใบที่เสียหายไปเผาทำลายนอกแปลง และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน เพื่อหาแนวทางป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : ไรแดงหม่อน Teranychus truncatus Ehara
ไรแดงมันสำปะหลัง Oligonychus biharensis Hirst
วงศ์ : Tetranychidae
อันดับ : Acariformes
รูปร่างลักษณะ
ไรแดงเป็นแมลงประเป็นปากดูด อยู่รวมเป็นกลุ่มตามใต้ใบพืช ตัวเมียขยายพันธุ์โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ (Parthenogenesis) ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ชีพจักรสั้น ตัวเมียวางไข่ได้ ๔ - ๑๓ ฟอง วางไข่เป็นฟองเดี่ยว ระยะไข่ ๔ - ๕ วัน ตัวอ่อนมี ๓ ระยะ ระยะแรกมี ๖ ขา ระยะที่ ๒ - ๓ มี ๘ ขา รวมอายุ ๖ - ๑๐ วัน ตัวเต็มวัย มี ๘ ขา อายุประมาณ ๑๕ วัน ปกติไรแดงจะไม่ค่อยเคลื่อนไหว
ลักษณะการทำลาย
ไรแดงที่เข้าทำลายมันสำปะหลังมีอยู่ ๒ ชนิด คือ ไรแดงหม่อน และไรแดงมันสำปะหลัง โดย
ไรแดงหม่อน ดูดกินน้ำเลี้ยงตามใต้ใบจากส่วนใบล่างและขยายปริมาณขึ้นส่วนยอด
ไรแดงมันสำปะหลัง ดูดกินน้ำเลี้ยงบนหลังใบของส่วนยอดและขยายปริมาณลงสู่ใบส่วนล่างทำให้ตาลีบ ใบเหลืองขีด ม้วนงอ และร่วง มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง ถ้าการระบาดเกิดขึ้นในมันที่ยังเล็ก อาจทำให้ต้นมันสำปะหลังตายหรือทำให้การสร้างหัวของมันสำปะหลังลดลง
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เช่น ด้วงเต่า ด้วงปีกสั้น และไรตัวห้ำ
๒. หลีกเลี่ยงการปลูกมันสำปะหลังในช่วงฤดูแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน
๓. หมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง หากพบเก็บไปเผาทำลายนอกแปลง
๔. เฉพาะกรณีจำเป็นต้องใช้สารเคมีอามีทราซ ๒๐% อีซี อัตรา ๔๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร ให้พ่นเฉพาะบริเวณที่มีไรแดงทำลาย และไม่ควรพ่นสารเคมีซ้ำเกิน ๒ ครั้ง
ที่มา : กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร
เรียบเรียงโดย : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 19/03/2561