ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๘๕ ประจำวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๐
โรคลำต้นเน่าหรือโคนเน่าขาว (Stem rot)
เตือนเกษตรกรที่ปลูกถั่วลิสง เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกติดต่อกันต่อเนื่อง สภาพแวดล้อมที่มีอากาศร้อนชื้น ระวังโรคลำต้นเน่าหรือโคนเน่าขาวระบาด ซึ่งเป็นอีก
โรคหนึ่งที่มีความสำคัญ พบทั่วไปทุกแหล่งที่มีการเพาะปลูกถั่วลิสง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน โดยเชื้อราสามารถเข้าทำลายพืชได้ทุกส่วนทั้งลำต้น ราก เข็ม ฝัก และเมล็ด และทำลายพืชได้ทุกระยะการเจริญเติบโตตั้งแต่ระยะต้นกล้าจนถึงเก็บเกี่ยว ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการยอด กิ่ง และลำต้น
เหยี่ยวยุบเป็นหย่อมๆ พบแผลเน่าที่บริเวณโคน หรือส่วนสัมผัสกับผิวดิน ให้รีบแจ้งและขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด
เพื่อดำเนินการหาแนวทางควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Sclerotium rolfsii Sacc
ลักษณะอาการ
เชื้อราอาจเข้าทำลายส่วนใดส่วนหนึ่งของพืช อาจเป็นโคนต้น กิ่ง ก้าน เข็ม ฝัก จะทำให้เกิดแผลเน่าสีน้ำตาลอ่อน เนื้อเยื่อบริเวณแผลจะยุบตัวลง ส่วนยอดของพืชจะแสดงอาการเหี่ยวเฉาและแห้งตายในที่สุด ในระยะที่พืชเริ่มเหี่ยวจะพบเส้นใยของเชื้อราสีขาวตามส่วนของพืชที่เป็นโรคหรือตามผิวดิน ซึ่งต่อมาจะพบเม็ดสเคอโรเตียมขนาดเล็กเท่าเมล็ดผักกาดสีน้ำตาล เชื้อราที่เข้าทำลายส่วนของเข็ม จะทำให้เข็มหลุดจากลำต้นหากทำลายฝักจะทำให้ฝักเน่า พบมากโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการปลูกพืชแน่นเกินไปและปลูกซ้ำที่เดิมพบพืชเป็นโรคในช่วงหลังจากติดฝักถึงเก็บเกี่ยว
การแพร่ระบาด
ระบาดรุนแรงในฤดูฝน สภาพที่มีความชื้นสูง หรือมีฝนตกติดต่อกัน ๓ - ๕ วัน โรคนี้สามารถแพร่ระบาดไปได้ง่ายโดยอาจจะติดไปกับดิน เศษซากพืชหรือต้นพืชที่เป็นโรค
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. ถอนต้นที่เป็นโรคตั้งแต่เริ่มแสดงอาหารเผาทำลายนอกแปลงปลูก
๒. ไม่ให้น้ำท่วมขังในแปลงปลูกช่วงหลังติดฝักถึงเก็บเกี่ยว
๓. ปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชตระกูลถั่ว เช่น ข้าวฟ่าง
๔. เก็บเกี่ยวถั่วลิสงตามอายุของพันธุ์ที่ระบุ
๕. ถ้าระบาดในแปลงปลูก พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น
- เมตาแลกซิล + แมนโคเซบ ๘% + ๖๔% ดับบลิวพี อัตรา ๑๕ – ๒๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร เมื่อพบโรคระบาดในระยะออกดอกถึงติดฝัก
- โพรพิโคนาโซล ๒๕% อีซี อัตรา ๑๒ - ๒๕ มิลลิลิตร ต่อนํ้า ๒๐ ลิตร ให้พ่นสารลงดินบริเวณโคนต้น ๒ - ๓ ครั้ง โดยหยุดการใช้สารก่อนเก็บเกี่ยว ๑๔ วัน
ที่มา : สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร
เรียบเรียงโดย : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 14/06/2560