ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๗๐ ประจำวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑
โรคดอกสนิม หรือจุดสนิม (Flower rusty spot)
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ในทุกภาคของประเทศไทย ระวังการระบาดของโรคดอกสนิม หรือจุดสนิม เนื่องจากช่วงนี้ฝนตกอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานาน สภาพอากาศเหมาะสมต่อการเกิดโรค โรคดอกสนิม หรือจุดสนิมเป็นปัญหาสำคัญของการส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกไปยังตลาดต่างประเทศ เพราะดอกกล้วยไม้อาจจะแสดงอาการในระหว่างการขนส่งได้ พบมากในกล้วยไม้ลูกผสมสกุลหวาย เช่น หวายขาว หวายชมพู พบครั้งแรกบนกลีบดอกหวายมาดามปอมปาดัวร์ และหวายซีซาร์ โดยเฉพาะดอกสีขาวอ่อนแอต่อโรคนี้มาก ดังนั้น ขอให้เกษตรกรเฝ้าระวังการระบาด และหมั่นสำรวจแปลงกล้วยไม้อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้ปลูกกล้วยไม้เพื่อการค้า หากพบอาการของโรคให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อกำหนดแนวทางการควบคุม และดำเนินการป้องกันกำจัดทันที
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Curvularia eragrostidis (P. Henn.) A. Meyer
ลักษณะอาการ
อาการจะปรากฏบนกลีบดอกกล้วยไม้ โดยเริ่มแรกเป็นจุดขนาดเล็กสีเหลืองอมน้ำตาลและขยายโตขึ้น ภายใน ๒ - ๓ วัน จุดเหล่านั้นจะมีสีเข้มคล้ายสีสนิม ลักษณะแผลค่อนข้างกลม ตรงกลางแผลเป็นจุดสีน้ำตาลแดง มีขนาดแผลตั้งแต่ ๐.๑ - ๐.๓ มิลลิเมตร
การแพร่กระจาย
ระบาดรุนแรงในช่วงฤดูฝน ถ้ามีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานานๆ หรือมีน้ำค้างลงมากโรคจะ แพร่ระบาดได้รวดเร็วทั้งสวนกล้วยไม้และบริเวณใกล้เคียง
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. หมั่นตรวจดูแลสวนกล้วยไม้ให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
๒. ไม่ปล่อยให้ดอกกล้วยไม้บานโรยคาต้น เพราะจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อราสาเหตุให้เข้าทำลายได้ง่าย
๓. เก็บรวบรวมดอกที่เป็นโรคออกให้หมดแล้วนำไปเผาทำลายเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อราสาเหตุ
๔. หลังจากนั้นพ่นสารกลุ่มโพรพิเนบ (Propineb) หรือแคปเทน (Captan) หรือฟอลเพต (folpet)
๕. เชื้อราชนิดนี้สามารถอยู่ในน้ำที่เตรียมไว้เพื่อใช้รดกล้วยไม้ด้วย จึงควรใช้คลอรีนผงในอัตรา ๕ กรัม ต่อน้ำ ๔๐๐ ลิตร กวนให้ทั่วแล้วปล่อยทิ้งค้างคืน จนหมดกลิ่นคลอรีน ก่อนนำไปใช้
๖. ไม่ควรใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง
ที่มา : เอกสารวิชาการกล้วยไม้ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ที่ปรึกษา : นางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
นางสาวสุมนา สิมาสฤษฏ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช
เรียบเรียงโดย : นางสาวเบญจมาภรณ์ ชุ่มจิตร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 24/07/2561