ฉบับที่ ๑๖ ฉบับที่ ๑๕ ประจำวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
เพลี้ยไฟ (Cotton Thrips)
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ในทุกภาคของประเทศไทย เนื่องจากช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งสภาพอากาศแห้ง ระวังการระบาดของเพลี้ยไฟทำลายดอกกล้วยไม้ ทำให้ดอกเสียคุณภาพ หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “ตัวกินสี” ดังนั้น ขอให้เกษตรกรเฝ้าระวังการระบาด และหมั่นสำรวจแปลงกล้วยไม้อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้ปลูกกล้วยไม้เพื่อการค้า หากพบให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน เพื่อดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thrips palmi Karny
วงศ์ : Thripidae
อันดับ : Thysanoptera
ชื่ออื่น : ตัวกินสี
รูปร่างลักษณะ
เพลี้ยไฟเป็นแมลงปากดูดมีขนาดเล็กมากลำตัวยาวประมาณ ๒ มิลลิเมตร รูปร่างเรียว แคบยาว ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยมีลักษณะคล้ายกัน แต่ตัวอ่อนไม่มีปีก ลำตัวสีเหลืองอ่อนถึงสีน้ำตาลอ่อน ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลดำ มีทั้งชนิดปีกและไม่มีปีก ชนิดที่มีปีกจะมีปีก 2 คู่ลักษณะคล้ายขนนก ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเคลื่อนไหวได้รวดเร็วมาก เมื่อถูกรบกวนมักจะวิ่งหลบหนีซ่อนตัว หรือกระโดดบินหนีไปอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่สังเกตจะมองไม่เห็นตัว
ลักษณะการทำลาย
เพลี้ยไฟเป็นศัตรูตัวสำคัญของกล้วยไม้ โดยเฉพาะวงการกล้วยไม้ตัดดอก จัดเป็นแมลงปากดูดขนาดเล็ก โดยตัวเต็มวัยจะวางไข่ไว้ในเนื้อเยื่อโดยเฉพาะดอกกล้วยไม้ เมื่อเกิดเป็นตัวอ่อนก็จะเริ่มทำลายดอก หรือส่วนอื่นที่วางไข่ไว้ ตัวอ่อนจะชอบอยู่ตามซอกกลีบดอกที่ซ้อนทับกัน ระบาดหนักช่วงอากาศร้อนแห้งแล้ง สังเกตอาการด่างตามขอบกลีบดอก เนื่องจากถูกตัวอ่อนดูด เพลี้ยไฟเข้าทำลายที่ช่อดอกอ่อน ดอกอ่อนจะถูกดูกินน้ำเลี้ยงจนทำให้ดอกแห้งฝ่อ พบระบาดมากในกล้วยไม้ประเภทหวาย แอสโค และช้าง
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
หากสุ่มพบอาการทำลาย ๘ ช่อดอก จาก ๔๐ ช่อดอก พ่นสารเคมีกำจัดแมลงแบบสลับกัน ทุก ๑๔ วัน ดังนี้
- สไปนีโทแรม ๑๒% เอสซี อัตรา ๑๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ
- ฟิโพรนิล ๕% เอสซี อัตรา ๓๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ
- อีมาเมกตินเบนโซเอต ๑.๙๒% อีซี อัตรา ๒๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร
เรียบเรียงโดย : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 21/02/2561