ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๔๗ ประจำวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑
โรครากเน่าโคนเน่าไม้ผล
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลในทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะไม้ผลในแถบภาคตะวันออก และภาคใต้ซึ่งอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต ประกอบกับข้อมูลจากแปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูไม้ผล เริ่มพบการเข้าทำลายของโรครากเน่าโคนเน่าในหลายพื้นที่ และด้วยสภาพอากาศในช่วงฤดูฝนที่มีความชื้นสูง ปริมาณฝนค่อนข้างมาก
ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทำลายของโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผลเพิ่มขึ้น ดังนั้น ขอให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้สำรวจสวนไม้ผลอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการของโรคให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดเพื่อกำหนดแนวทางการควบคุม และดำเนินการป้องกันกำจัดทันที
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Phytophthora palmivora ในทุเรียน
เชื้อรา Phytophthora parasitica ในพืชตระกูลส้ม
ลักษณะอาการ
บริเวณโคนต้นเปลือกจะปริแตก ทำความเสียหายกับระบบรากทำให้รากเน่า บริเวณโคนต้นมียางไหลในสภาพที่อากาศชื้น เมื่อใช้มีดตัดหรือถากที่เปลือกบริเวณ
ที่เป็นโรคจะเห็นเป็นสีน้ำตาลแดงถึงสีดำแสดงอาการใบเหลืองซีดลู่ลง กิ่งบางกิ่งเริ่มแห้งตาย และผลหลุดร่วง
การแพร่กระจาย
เชื้อราสาเหตุโรคถูกชะล้างโดยน้ำฝนและไหลตามกระแสน้ำ หรือเชื้อราถูกพัดพาโดยกระแสลม หรือเชื้อราอาจติดไปกับดิน น้ำ ซากหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพืช
ที่เป็นโรค
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. สำรวจสวนผลไม้อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
๒. บำรุงต้นให้สมบูรณ์แข็งแรง ตัดแต่งกิ่ง หรือลำต้นที่เป็นโรคไปเผาทำลาย
๓. ปรับปรุงสภาพดิน โดยใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ทำร่องระบายน้ำในสวนที่เป็นพื้นที่ต่ำ เพื่อป้องกันน้ำขังภายในสวน
๔. ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าหว่านในพื้นที่รัศมีทรงพุ่มที่มีรากฝอยอยู่ หรือใช้รองก้นหลุมก่อนปลูก
๕. ในกรณีที่เป็นไม่มากให้ขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออกแล้วทาด้วยเชื้อ Bacillus subtilis สายพันธุ์ N5102 อัตรา ๒๐๐ กรัม ต่อนํ้า ๑๐๐ มิลลิลิตร และผสมสารจับใบ สัปดาห์ละ ๑ ครั้ง โดยทา๓ - ๔ ครั้ง
๖. เมื่อพบโรคให้ขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก แล้วทาแผลด้วยปูนแดง หรือสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น
- เมทาแลกซิล ๒๕% ดับเบิลยูพี อัตรา ๓๐ - ๕๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ
- ฟอสอีทิล – อะลูมิเนียม ๘๐% ดับเบิลยูพี อัตรา ๓๐ - ๕๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
- ฟอสโฟนิก แอซิด ๔๐% เอสแอล ผสมน้ำสะอาด อัตรา ๑ : ๑ ฉีดเข้าลำต้น
ที่มา : สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร
ที่ปรึกษา : นางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
นางสาวสุมนา สิมาสฤษฏ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช
เรียบเรียงโดย : นางสาวเบญจมาภรณ์ ชุ่มจิตร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ
กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 02/06/2561