ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๘๐ ประจำวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐
โรคแอนแทรคโนส หรือโรคหอมเลื้อย
เตือนเกษตรกรที่ปลูกหอมทั้งหอมหัวใหญ่ หอมแดง หอมแบ่ง และเกษตรกรที่ปลูกเพื่อเก็บหัวไว้ใช้ทำพันธุ์ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกหอมหัวใหญ่ในจังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากสภาพอากาศช่วงนี้มีฝนตกชุกในหลายพื้นที่เหมาะสมต่อการระบาดของโรคใบเน่าแอนแทรคโนส หรือโรคหอมเลื้อย โรคนี้รุนแรงกับหอมหัวใหญ่เกิดโรคปานกลางกับหอมแดง และหอมแบ่งที่ปลูกเพื่อเก็บหัวทำพันธุ์ ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเริ่มพบอาการของโรคให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัดเพื่อดำเนินการควบคุม และหาแนวทางป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Colletotrichum gloeeosporioides
ลักษณะอาการ
เชื้อราสามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของพืช เช่น ใบ กาบใบ คอ หรือส่วนหัว ทำให้เกิดเป็นแผล ซึ่งเนื้อแผลเป็นแอ่งต่ำกว่าระดับผิวปกติเล็กน้อย บนแผลมีสปอร์ของเชื้อราเป็นหยดของเหลวสีส้มอมชมพู ซึ่งเมื่อแห้งแล้วจะเป็นตุ่มสีดำเล็ก ๆ เรียงเป็นวงรีซ้อนกันหลายชั้น โรคนี้ทำให้ใบเน่าเสียหาย ต้นหอมแคระแกรน ใบบิดโค้งงอ หัวลีบยาว เลื้อย ไม่ลงหัว ระบบรากสั้น ทำให้ต้นหอมเน่าเสียหายในแปลงปลูก เก็บเกี่ยวไม่ได้ หรือไปเน่าเสียในช่วงเก็บรักษา
การแพร่ระบาด
มีการแพร่ระบาดรุนแรงในฤดูฝน จึงพบโรคนี้ระบาดในแปลงปลูกหอมหัวใหญ่ซึ่งปลูกในฤดูฝนที่ จ.กาญจนบุรี เป็นประจำทุกปี
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. ก่อนปลูกหอมหัวใหญ่ทุกครั้งควรปรับปรุงดินด้วยการใส่ปูนขาวและปุ๋ยคอก เพื่อฟื้นฟูสภาพของดินให้ดีขึ้น ปูนขาวควรใส่ก่อนปลูก ๑ - ๒ สัปดาห์
๒. หลีกเลี่ยงการปลูกหอมในช่วงฤดูฝนตกชุก ยกร่องสูงเพื่อให้มีการระบายน้ำที่ดี
๓. เก็บชิ้นส่วนของพืชที่เป็นโรคไปเผาทำลายทุกครั้ง เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค
๔. โรคหอมเลื้อยเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถใช้สารเคมีพ่นเพื่อรักษาโรคได้ แต่สามารถป้องกันโรคระบาดลุกลามไปยังต้นที่ไม่เป็นโรคได้โดยพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช ดังนี้
- อะซ็อกซีสโตรบิน ๒๕% SC
- โปรคลอราซ อ๊อคเทฟ ๕๐% WP
- ไดฟีโนโคนาโซล ๒๕% EC
- โพรไซมิโดน ๕๐% WP
เริ่มพ่นเมื่อพบโรคโดยทุกครั้งเก็บต้นที่เป็นโรคไปเผาทำลายแล้วพ่นต้นหอมที่เหลือด้วยสารเคมีผสมสารจับใบลงไปด้วย ไม่ควรพ่นสารเคมีประเภทดูดซึมติดต่อกันเกิน ๔ ครั้ง ควรพ่นสลับกับสารเคมีประเภทสัมผัสเพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อราสาเหตุของโรค
ที่มา : http://www.arda.or.th/kasetinfo/north/plant/onion_disease.html
เรียบเรียงโดย : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 13/07/2560