ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๑๔๔ ประจำวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
หนอนเจาะดอกทานตะวัน
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกทานตะวันทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตภาคกลางที่ดอกทานตะวันเริ่มทยอยบานเต็มที่ ระวังการระบาดของหนอนเจาะดอกทานตะวัน เนื่องจากช่วงนี้สภาพอากาศเหมาะสมต่อการระบาด เกษตรกรจึงควรหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ หากพบหนอนเจาะดอกทานตะวัน หรือร่องรอยการทำลายให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านโดยทันที ก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Helicoverpa armigera
วงศ์ : Noctuidae
อันดับ : Lepidoptera
ชื่อสามัญอื่น : -
รูปร่างลักษณะ
หนอนลำตัวมีสีเหลืองนวลและมีแถบสีดำพาดตามความยาวลำต้นและมีขนดูคล้ายหนามขึ้นตามลำตัวประปราย ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดกลาง ปีกคู่หน้าของผีเสื้อเพศเมียมีสีน้ำตาลปนแดง ส่วนเพศผู้มีสีน้ำตาลปนเขียว
ลักษณะการทำลาย
พบตัวหนอนกัดกินบริเวณจานดอกมากกว่าส่วนของใบ โดยหนอนจะกัดกินกลีบดอก กลีบเลี้ยงและเมล็ดทำให้ดอกไม่สวยงาม เพราะไม่มีกลีบดอกสีเหลืองในการช่วยดึงดูดแมลง เช่น ผึ้ง มาผสมเกสร ทำให้การติดเมล็ดลดลง และมีเมล็ดลีบมากขึ้น นอกจากนั้นหนอนยังกัดกินส่วนของเมล็ดโดยตรง ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก
พืชอาหาร
ฝ้าย ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ยาสูบ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ทานตะวัน ไม้ผล และผักอีกหลายชนิด
การแพร่กระจาย
เนื่องด้วยเป็นแมลงที่มีพืชอาหารกว้างขวาง ดังนั้นการปลูกทานตะวันใกล้เคียงหรือปลูกตามพืชที่เป็นแหล่งอาหารของแมลงชนิดนี้ก็จะทำให้ทานตะวันได้รับความเสียหายอยู่เสมอ และทานตะวันที่ปลูกปลายฤดูฝนจะได้รับความเสียหายมากกว่าต้นฤดูฝน
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. สำรวจแปลงสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงดอกใกล้บาน
๒. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เช่น แตนเบียนไข่ แมลงหางหนีบ แมลงช้าง แมลงวันก้นขน และมวนเพชฌฆาต
๓. หลีกเลี่ยงการปลูกทานตะวันตามพืชที่เป็นอาหารของหนอนเจาะสมอฝ้าย เช่น ฝ้าย หรือข้าวโพด หากจำเป็นต้องปลูกควรทำการไถกลบเศษซากพืชก่อนปลูก
๔. ถ้ามีการระบาดรุนแรง และจำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลง ควรพ่นด้วยชนิดใดชนิดหนึ่ง โดยพ่นที่บริเวณจานดอก ได้แก่
- อิมาเม็กตินเบนโซเอท ๑.๙๒% อีซี อัตรา ๑๐ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ
- ลูเฟนนูรอน ๕% อีซี อัตรา ๑๐ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ
- คลอร์ฟลูอาซูรอน ๕% อีซี อัตรา ๒๐ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ
- เมท็อกซี่ฟีโนไซดื ๒๔% เอสซี อัตรา ๑๐ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
ที่มา : ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ กรมวิชาการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตร
เรียบเรียงโดย : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 16/11/2560