ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๓๖ ประจำวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๑
แมลงดำหนามมะพร้าว (coconut hispine beetle)
เตือนเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวในทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตมะพร้าวที่สำคัญ ช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน สภาพอากาศร้อน เหมาะต่อการระบาดของแมลงดำหนามมะพร้าว และแม้ว่าในขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน ปี ๒๕๖๐ และมีผลงานวิจัยว่าสารเคมีอิมาเมกติน เบนโซเอท ๑.๙๒% อีซี สามารถกำจัดแมลงดำหนามได้นั้น อย่างไรก็ตามเกษตรกรควรหมั่นสำรวจสวนมะพร้าวอย่างสม่ำเสมอ หากพบการเข้าทำลายให้รีบกำจัดตามคำแนะของทางราชการ และแจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อวางแผนหาแนวทางควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง และระบาดไปยังพื้นที่อื่น
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brontispa longissima (Gestro)
วงศ์ : Chrysomelidae
อันดับ : Coleoptera
ชื่ออื่น : -
รูปร่างลักษณะ
ตัวเต็มวัยแมลงดำหนามเป็นด้วงปีกแข็ง ลำตัวค่อนข้างแบน ส่วนหัวและท้องมีสีน้ำตาล อกมีสีเหลืองปนส้ม ปีกมีสีดำ มักซ่อนตัวอยู่ตามใบอ่อนหรือใบที่ยังไม่คลี่ แมลงดำหนามวางไข่เป็นฟองเดี่ยวหรือกลุ่ม กลุ่มละ ๑ - ๔ ฟอง ใต้ใบที่ยังไม่คลี่ ไข่มีลักษณะยาว ค่อนข้างแบน รูปร่างคล้ายแคปซูล มีขนสีน้ำตาลปกคลุม ระยะไข่ประมาณ ๕ วัน จึงฟักเป็นตัวหนอน ตลอดอายุขัยตัวเมียสามารถวางไข่ได้ประมาณ ๑๐๐ ฟอง ตัวหนอนมีสีขาวบริเวณด้านข้างของลำตัวมีลักษณะคล้ายหนามยื่นออกมา ปลายสุดของส่วนท้องมีหนาม รูปร่างคล้ายคีมยื่นออกมา ๑ คู่ ตัวหนอนที่ฟักออกมาใหม่จะเริ่มแทะกินใบอ่อนที่เรียงซ้อนและยังไม่คลี่ออก เจริญเติบโตและลอกคราบ ๕ - ๖ ครั้ง ตัวหนอนจะซ่อนตัวหลบแสงสว่างในซอกใบอ่อน จากนั้นจะพักตัวหยุดกินอาหารประมาณ ๓ วัน จึงเข้าดักแด้ หนอนที่เจริญเติบโตเต็มที่จะหยุดกินอาหารและเข้าดักแด้ในกาบใบมะพร้าว ดักแด้จะติดกับใบมะพร้าว มีสีน้ำตาลเข้ม รวมระยะไข่จนกระทั่งถึงตัวเต็มวัยใช้เวลาประมาณ ๕ - ๗ สัปดาห์ ระยะตัวเต็มวัยอายุนาน ๘ - ๑๐ สัปดาห์
พืชอาหาร
มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน หมากเขียว หมากเหลืองและหมากแดง
ลักษณะการทำลาย
ตัวหนอนและตัวเต็มวัยของแมลงดำหนามมะพร้าวซ่อนตัวในใบอ่อนและกัดกินยอดอ่อนโดยเฉพาะยอดที่ยังไม่คลี่ ทำให้ยอดอ่อนของมะพร้าวชะงักการเจริญเติบโต หากต้นมะพร้าวถูกทำลายรุนแรงติดต่อกัน ทำให้ใบแห้งกลายเป็นสีน้ำตาลหลายใบ มองเห็นเป็นสีขาวโพลนชัดเจน ชาวสวนเรียกว่า “โรคหัวหงอก”
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุกสัปดาห์
๒. ตัดยอดที่ถูกแมลงกัดกินมาเก็บไข่ หนอนและตัวเต็มวัยไปทำลาย
๓. ปล่อยแมลงหางหนีบทำลายไข่ หนอน และดักแด้ของแมลงดำหนาม อัตรา ๓๐๐ ตัวต่อไร่
๔. ปล่อยแตนเบียนหนอนอะซีโคเดส ทำลายหนอน อัตรา ๕ มัมมี่ต่อไร่ ปล่อย ๓ ครั้ง ห่างกัน ๒ สัปดาห์ต่อครั้ง
๕. ใช้เชื้อราเขียวเมตตาไรเซียม พ่นกำจัดหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัยของแมลงดำหนาม อัตรา ๑ กิโลกรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
ที่มา : ๑. กรมวิชาการเกษตร
๒. สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร
๓. https://www.cabi.org/isc/datasheet/10059
ที่ปรึกษา : นางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
นางสาวสุมนา สิมาสฤษฏ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช
เรียบเรียงโดย : นางสาวเบญจมาภรณ์ ชุ่มจิตร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ
กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 30/04/2561