ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๘๒ ประจำวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๐
หนอนเจาะขั้วผลเงาะ (Cocoa pod borer)
เตือนเกษตรกรชาวสวนเงาะทางภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะแหล่งปลูกที่สำคัญในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในช่วงนี้เงาะอยู่ในระยะพัฒนาของผลเป็นระยะที่เหมาะต่อการทำลายของหนอนเจาะขั้วผล ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเริ่มพบหนอนเจาะขั้วผลเงาะ ให้รีบขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อหาแนวทางควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Conopomorpha cramerella Snellen
วงศ์ : Gracilariidae
อันดับ : Lepidoptera
ชื่ออื่น : -
รูปร่างลักษณะ
ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก กลางวันอาศัยอยู่ตามต้นพืช เพศเมียวางไข่ที่ผลเงาะ ไข่มีลักษณะกลมรี เมื่อตัวหนอนฟักออกมาจากไข่จะเจาะเข้าไปในผล ตัวหนอนสีขาว หัวสีน้ำตาลอ่อน ระยะหนอนประมาณ ๑๔ – ๑๘ วัน ก็จะเข้าดักแด้ ๖ – ๘ วัน
ลักษณะการทำลาย
หนอนเจาะขั้วผลเงาะเป็นแมลงชนิดเดียวกับหนอนเจาะผลโกโก้ ซึ่งหนอนของแมลงชนิดนี้มักพบอยู่ภายในผลบริเวณขั้วหรือต่ำกว่าขั้วลงมาเล็กน้อย การทำลายของหนอนไม่สามารถสังเกตได้จากภายนอก ต้องรับประทานผลเงาะจึงจะพบหนอนอยู่ที่ขั้ว โดยหนอนจะกัดกินที่ขั้วเนื้อและบางทีถึงเมล็ด ถึงแม้ว่าหนอนจะกัดกินแต่เพียงบริเวณส่วนของขั้วผลเท่านั้น แต่ผู้บริโภคมักรังเกียจ ถ้าสังเกตดูให้ดีบริเวณใกล้ขั้วจะพบรูเล็ก ๆ ปรากฏอยู่ ซึ่งเป็นรูที่หนอนเจาะออกมาเข้าดักแด้อยู่ภายนอก
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. หมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
๒. เก็บผลเงาะที่ร่วงหล่นนำไปฝังหรือเผาไฟ เพื่อป้องกันการระบาดในฤดูต่อไป
๓. เมื่อเงาะเริ่มแก่ในบริเวณที่มีการระบาด หากจำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลง ควรพ่นสารเคมีคาร์บาริล (เซฟวิน ๘๕% WP) อัตรา ๖๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร และหยุดพ่นสารเคมีก่อนเก็บผลผลิตเงาะอย่างน้อย ๑๐ วัน
ที่มา : สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร
เรียบเรียงโดย : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 07/06/2560