ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๗๖ ประจำวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๑
หนอนชอนใบส้ม (Citrus Leaf miner)
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกพืชตระกูลส้มในทุกภาคของประเทศไทย เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์หนอนชอนใบส้มเข้าทำลายโดยเฉพาะในช่วงที่มีการแตกใบอ่อน เนื่องจากช่วงนี้สภาพอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิเฉลี่ยค่อนข้างสูง เหมาะสมต่อการระบาด ดังนั้น ขอให้เกษตรกรหมั่นสำรวจสวนส้มอย่างสม่ำเสมอ หากพบใบมีรอยเป็นเส้นทางสีขาวเรียวยาวในระยะเริ่มแรกและขยายใหญ่ขึ้นเป็นทางคดเคี้ยวคล้ายงู ใบมีลักษณะบิดงอลงทางด้านที่หนอนทำลาย ให้รีบแจ้งหรือขอคำแนะนำจากสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน เพื่อดำเนินการหาแนวทางป้องกัน ควบคุมและกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllocnistis citrella Stainton
วงศ์ : Phyllocistidae
อันดับ : Lepioptera
ชื่ออื่น : -
รูปร่างลักษณะ
ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กมาก ความกว้างเมื่อกางปีกออกทั้งสองข้างประมาณ ๖ - ๘ มิลลิเมตร ลำตัวสีนวลแวววาว เพศเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ บริเวณใกล้เส้นกลางใบ ส่วนใหญ่จะพบใต้ใบมากกว่าบนใบส้ม
ไข่ มีลักษณะคล้ายหยดน้ำ สีเหลืองอมเขียวใส
ตัวหนอนเมื่อออกจากไข่แล้วจะเจาะเข้าใต้ผิวใบทันที ตัวหนอนสีเหลืองอ่อน จนเหลืองเข้ม ระยะสุดท้ายจะถักใยยึดริมขอบใบพับมาคลุมตัวแล้วเข้าดักแด้
ดักแด้ สีเหลืองเข้มจนถึงน้ำตาล มีหนามแหลมที่ปลายส่วนหัว อยู่ในบริเวณทรงพุ่มของต้นส้ม อาจพบตามพงหญ้าใต้ต้นด้วย
พืชอาหาร
พืชตระกูลส้มทุกชนิด เช่น ส้มเขียวหวาน มะนาว มะกรูด ส้มโอ ส้มเกลี้ยง ส้มแป้น ส้มจี๊ด เป็นต้น
ลักษณะการทำลาย
หนอนชอนใบส้มเมื่อฟักออกจากไข่แล้วจะเจาะแวกซ์ หรือ ผิวเคลือบใบ แล้วค่อย ๆ สอดตัวเข้าคืบคลานกัดกินเนื้อเยื่อใบไป 5 - 10 วัน จนกลายเป็นลายเส้น ใบจนบิดเบี้ยวผิดรูป หงิกงอ ขอบใบม้วนเข้า ส่งผลให้ต้นแคระแกร็น ไม่ติดผล นอกจากนั้นบริเวณที่หนอนชอนใบเจาะไว้ ยังเป็นช่องทางให้เชื้อสาเหตุโรคเข้าทำลายต้นมะนาวได้อีก เช่น โรคแคงเกอร์ ถ้ามีการระบาดมากหนอนจะเข้าทำลายกิ่งอ่อนและผลด้วย ทำให้ต้นส้มชะงักการเจริญเติบโต
การแพร่ระบาด
ระบาดมากในช่วงฤดูฝน ทำลายประมาณ 90 - 100 % ในขณะที่ฤดูหนาวมียอดอ่อนถูกทำลายประมาณ 20 %
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. สำรวจแปลงอ้อยอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
๒. เก็บยอดหรือใบที่ถูกหนอนชอนใบทำลาย ออกมาทำลายโดยการเผาทิ้งเพื่อลดปริมาณหนอนในส้มรุ่นต่อไป
๓. พ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลง โดยพ่นให้ทั่วทั้งต้น เช่น
- ปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์ ๘๓.๙๐% อีซี อัตรา ๔๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ
- สารโคลไทอะนิดิน ๑๖% เอสจี อัตรา ๕ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ
- ไทอะมีโทแซม ๒๕% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา ๕ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
ศัตรูธรรมชาติ
๑. แมลงห้ำ ๒ ชนิด คือ แมลงช้างปีกใส มด
๒. แตนเบียน ๑๓ ชนิด ที่พบเป็นประจำ ๓ ชนิด ได้แก่
- Ageniaspis citricola Logvinoslaya ทำให้หนอนชอนใบส้มตายในระยะดักแด้ ๒๒ - ๖๒ % เป็นแตนเบียนที่พบมากที่สุด
- Cirrospillus ingenuus ( Subba Rao &Ramamani ) เป็นแตนเบียนในระยะดักแด้
- Quadrastichus sp. ทำให้หนอนตายในวันที่ ๓- ๔
ที่มา : ๑. กรมวิชาการเกษตร
๒. http://www.sotus.co.th/site/articles_detail.php?kw=145&pw=1
ที่ปรึกษา : นางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
นางสาวสุมนา สิมาสฤษฏ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช
เรียบเรียงโดย : นางสาวเบญจมาภรณ์ ชุ่มจิตร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 21/08/2561