ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๑๕๓ ประจำวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๐
หนอนปลอกเล็กศัตรูมะพร้าวและปาล์มน้ำมัน
เตือนเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวและปาล์มน้ำมันในทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ระวังการระบาดของหนอนปลอกเล็ก เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว สภาพอากาศแห้งแล้ง และมีลมพัดแรง เหมาะต่อการระบาดของหนอนปลอกเล็ก ดังนั้น ขอให้เกษตรกรหมั่นสำรวจสวนมะพร้าวและปาล์มน้ำมันอย่างสม่ำเสมอ หากพบหนอนปลอกเล็กเข้าทำลาย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อหาแนวทางและคำแนะนำในการป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cremastopsyche pendula Joannis
วงศ์ : Psychidae
อันดับ : Lepidoptera
รูปร่างลักษณะ
ตัวเต็มวัยหนอนปลอกเล็กเป็นผีเสื้อกลางคืน เพศผู้มีสีน้ำตาลไหม้ มีหนวดแบบฟันหวี ปีกยาวเมื่อกางออกวัดได้ประมาณ ๒๔ มิลลิเมตร เพศเมียมีลำตัวคล้ายหนอนและไม่มีปีก ลำตัวสีขาวปนเหลืองส่วนหัวมีขนาดเล็กกว่าลำตัว ไม่มีหนวด มีขา ๓ คู่ ขนาดเล็กและสั้น อาศัยอยู่ในดักแด้เดิมของมันเอง เพื่อรอรับการผสมพันธุ์จากเพศผู้ หลังการผสมพันธุ์เพศเมียจะวางไข่ไว้ที่ซากดักแด้ หนอนที่ฟักออกจากไข่ระยะแรกมีสีขาวนวล หัวสีน้ำตาล ลำตัวยาวประมาณ ๑ มิลลิเมตร หลังจากผ่านไป ๓๐ นาที หนอนจะเริ่มกัดใบมะพร้าว หรือใบปาล์มน้ำมันที่แห้งมาปะติดตัวด้วยเส้นใยเหนียวที่ขับออกมาทางปาก โดยทำช่องเปิดด้านบนสำหรับโผล่ส่วนหัวออกมากัดกินใบพืช และส่วนล่างสุดสำหรับเป็นช่องขับถ่าย ระยะหนอนใช้เวลาประมาณ ๙๒ – ๑๒๔ วัน ระยะหนอนเป็นระยะที่ทำให้เกิดความเสียหายกับมะพร้าว หรือปาล์มน้ำมันมากที่สุด
ลักษณะการทำลาย
หนอนปลอกเล็กจะกัดแทะผิวใบมะพร้าว หรือปาล์มน้ำมันทำให้ใบแห้งเป็นสีน้ำตาล ทำให้ใบทะลุเป็นรูขาดแหว่ง ถ้าเข้าทำลายรุนแรงจะเห็นทางใบทั้งต้นเป็นสีน้ำตาลแห้ง ต้นชะงักการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตลดลง หรือไม่ได้ผลผลิตเลย
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรหมั่นสำรวจสวนมะพร้าว และปาล์มน้ำมันอย่างสม่ำเสมอ
๒. ตัดทางใบมะพร้าวหรือทางใบปาล์มน้ำมันที่ถูกหนอนปลอกเล็กทำลายมาเผา เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่พันธุ์ของหนอนปลอกเล็ก
๓. พ่นด้วยเชื้อบีทีชนิดผง อัตรา ๒๐ – ๓๐ กรัม ต่อน้ำ ๑ ปี๊บ ผสมให้เข้ากันแล้วพ่นในช่วงเช้าหรือเย็นให้สัมผัสกับตัวหนอนปลอกสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง พ่นติดต่อกัน ๒ - ๓ สัปดาห์
๔. หากพบการระบาดรุนแรงให้พ่นด้วยเซฟวิน ๘๕% WP อัตรา ๒๕ – ๔๐ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร พ่น ๑ – ๒ ครั้ง
ที่มา : กลุ่มส่งเสริมการวินิจฉัยศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
สำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมส่งเสริมการเกษตร
เรียบเรียงโดย : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 12/12/2560