ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๙๗ ประจำวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐
โรคเน่าดำ หรือโรคเน่าเข้าไส้กล้วยไม้ (Black rot or Phytophthora rot)
เตือนเกษตรกรชาวสวนกล้วยไม้ ระวังโรคเน่าดำ หรือโรคเน่าเข้าไส้กล้วยไม้ระบาด โรคนี้สามารถเกิดกับกล้วยไม้ทุกสกุล โดยเฉพาะผู้ปลูกกล้วยไม้ในสกุลแวนด้า เนื่องจากในช่วงฤดูฝนในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูงเหมาะต่อการเจริญของเชื้อราสาเหตุโรค สปอร์ของเชื้อราจะแพร่กระจายไปกับน้ำที่ใช้รด ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจโรงเรือนกล้วยไม้อย่างสม่ำเสมอ เมื่อเริ่มพบอาการของโรคให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัดเพื่อดำเนินการควบคุม และหาแนวทางป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Phytophthora palmivora Butl.
ลักษณะอาการ
ราก เป็นแผลสีดำ เน่า แห้ง ยุบตัวลง หรือรากเน่าแห้งแฟบ ต่อมาเชื้อจะลุกลามเข้าไปในลำต้น
ลำต้น เชื้อราจะเข้าทางยอดหรือโคนต้น ใบจะเหลืองหรือเน่าดำหลุดร่วงจากต้นได้ง่าย ถ้าเชื้อเข้าทางยอดจะทำให้ยอดเน่า เมื่อใช้มือดึงยอดจะหลุดติดมือขึ้นมา ถ้าเชื้อเข้าทางโคนต้น ใบจะเหลืองร่วงจากโคนต้นขึ้นไปหาส่วนยอดเรื่อยๆ บางครั้งเกษตรกรเรียกว่า "โรคแก้ผ้า"
ใบ เริ่มแรกเป็นจุดใส ชุ่มน้ำ สีเหลือง ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และเป็นสีดำในที่สุด แผลจะขยายใหญ่ลุกลามอย่างรวดเร็ว ในสภาพที่มีความชื้นสูงเชื้อราจะสร้างเส้นใยสีขาวใสละเอียดบนแผลเน่าดำสังเกตเห็นได้ชัดเจนตอนเช้ามืดก่อนที่แสงแดดจัด
ดอก เป็นจุดแผลสีน้ำตาลบนกลีบดอก และอาจมีสีเหลืองล้อมรอบแผล ถ้าเป็นกับดอกตูมขนาดเล็ก ดอกจะเน่าและหลุดจากก้านช่อ
ก้านช่อดอก จะเห็นแผลเน่าดำที่ก้านช่อดอก เชื้อจะลุกลาม และก้านช่อดอกจะหักพับในที่สุด
การแพร่กระจาย
สปอร์ของเชื้อราจะกระเด็นไปกับน้ำฝนหรือระหว่างการรดน้ำกล้วยไม้ เชื้อสามารถแพร่ระบาดจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่งได้ง่าย โดยเฉพาะในฤดูฝน ซึ่งอากาศมีความชื้นสูงมาก
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. สำรวจแปลง และโรงเรือนกล้วยไม้อย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
๒. ปรับสภาพโรงเรือนให้โปร่ง และอย่าปลูกกล้วยไม้แน่นเกินไป
๓. ควรทำหลังคาพลาสติกสำหรับลูกกล้วยไม้เพื่อป้องกันการระบาดของโรคในช่วงฤดูฝน
๔. ในกรณีที่ปลูกกล้วยไม้บนพื้นดินเหนียวควรรองพื้นด้วยขี้เถ้าแกลบก่อนปูด้วยกาบมะพร้าว เพื่อช่วยระบายน้ำ และช่วยป้องกันไม่ให้โรคนี้ทำลายกล้วยไม้ในระยะแรก
๕. ถ้าพบโรคนี้ในระยะลูกไม้ ให้แยกกระถางที่เป็นโรคออกแล้วนำไปเผาทำลาย ถ้าเป็นกับกล้วยไม้ที่ต้นโตแล้ว ควรตัดส่วนที่เป็นโรคออกเสียจนถึงเนื้อดี แล้วใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราป้ายบริเวณที่เป็นแผล
๖. การตัดแยกส่วนที่ยังไม่ติดเชื้อ ควรฆ่าเชื้อกรรไกรที่ใช้ตัดด้วยการลนไฟ หรือจุ่มแอลกอฮอล์ เมื่อตัดแล้วก็ทาด้วยปูนแดง หรือสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เพื่อกันเชื้อโรคเข้ารอยแผลที่ตัด
๗. ไม่ควรให้น้ำกล้วยไม้ตอนเย็นใกล้ค่ำ โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว เพราะจะทำให้เกิดสภาพอากาศเย็นความชื้นสูง ซึ่งเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อ ทำให้โรคระบาดอย่างรุนแรงได้ง่ายขึ้น
ไม่ควรขยายพันธุ์จากต้นที่เป็นโรค และควรเผาทำลายต้นที่เป็นโรคเพื่อตัดวงจรของเชื้อสาเหตุ
๘. พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช ดังนี้
- ฟอสฟอรัส แอซิด อัตรา ๓๐ ซีซี ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร พ่นในช่วงแดดไม่จัด ใช้ได้ดีในแง่ของการป้องกัน
- เมธาแลคซิล ๓๕ % WP อัตรา ๗ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือเมธาแลคซิล ๒๕ % WP อัตรา ๔๐ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร ใช้ได้ผลดีในการกำจัด แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน ๓ ครั้ง เพราะเชื้อราอาจเกิดการดื้อยา ควรพ่นสลับกับสารเคมีชนิดอื่น เช่น แคปแทน หรือแมนโคเซบ เป็นต้น
***ข้อควรระวัง ในการใช้สารเคมีชนิดนี้ คือ ถ้าใช้ในอัตราที่เข้มข้นมากๆ และพ่นถี่มากเกินไป กล้วยไม้จะมีอาการต้นแคระแกรน รากกุด ข้อถี่ ช่อดอกสั้นผิดปกติ
- โฟซีทิล-อลูมิเนียม ใช้อัตรา ๒๕ - ๕๐ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร ถ้าป้องกันโรคใช้ในอัตราที่ต่ำ ให้ใช้พ่นเพียงเดือนละ ๑ - ๒ ครั้งเท่านั้น และไม่ควรผสมกับปุ๋ยใดๆ ควรพ่นสลับกับสารเคมีชนิดอื่น เช่น ใช้เมธาแลคซิล สลับกับแมนโคเซบ เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา หรือใช้สารที่ผสมมาให้เรียบร้อยแล้ว จะทำให้การป้องกันและกำจัดได้ผลดียิ่งขึ้น ถ้ากำจัดโรคใช้ในอัตราที่สูง
- อีทริไดอะโซล ใช้ได้ดีสำหรับการป้องกัน แต่ควรระวัง คือ ไม่ควรใช้ผสมกับปุ๋ยและสารเคมีอื่นๆ ทุกชนิด
ที่มา : สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร
เรียบเรียงโดย : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 13/07/2560