ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๑๐๔ ประจำวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๐
หนอนกออ้อย (Sugarcane Borer)
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในเขตภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกอ้อยที่สำคัญของประเทศ ให้ระวังการระบาดของหนอนกอลายจุดเล็ก หนอนกอสีขาว และหนอนกอสีชมพู โดยเฉพาะอ้อยในระยะแตกกอ และอ้อยปลูกใหม่ และให้ระวังการเข้าทำลายของหนอนกอลายใหญ่ และหนอนกอลายจุดใหญ่ ซึ่งพบมากในระยะอ้อยเป็นลำ เนื่องจากจากข้อมูลแปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูอ้อยพบการเข้าทำลายของหนอนกออ้อยในหลายพื้นที่ ดังนั้น ขอให้เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวและในจังหวัดใกล้เคียงสำรวจแปลงอ้อยอย่างสม่ำเสมอ หากพบการเข้าทำลายให้รีบขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อหาทางควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : หนอนกอลายจุดเล็ก Chilo infuscatellus
หนอนกอสีขาว Scripophaga excerptalis
หนอนกอสีชมพู Sesamia inferens
(หนอนกอทั้ง ๓ ชนิดนี้ สร้างปัญหาให้กับอ้อยในระยะแตกกอมากกว่าในระยะอ้อยเป็นลำ)
หนอนกอลายใหญ่ Chilo sacchariphagus
หนอนกอลายจุดใหญ่ Chilo tumidicostalis
(หนอนกอทั้ง ๒ ชนิดนี้ สร้างปัญหาในระยะอ้อยเป็นลำได้มากกว่าในระยะอ้อยแตกกอ)
วงศ์ : Tetranychidae
อันดับ : Acariformes
รูปร่างลักษณะ
หนอนกอลายจุดเล็ก ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนสีฟางข้าง อายุ ๗ – ๑๒ วันวางไข่เป็นกลุ่มสีขาวครีมวางซ้อนกันคล้ายเกล็ดปลาอยู่ใต้ใบและบนใบอ้อย ระยะไข่ ๓ – ๖ วัน หนอนมีจุดขนาดเล็กๆ (ขนาดจุดดินสอดำปลายแหลม) สีน้ำตาลไหม้อยู่บนหลังปล้องละ ๑ คู่
หนอนกอสีขาว ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนสีขาว อายุ ๖ - ๑๐ วัน ไข่แต่ละฟองเป็นเม็ดกลมสีขาวเป็นกลุ่มอยู่ใต้ใบอ้อย และมีขนสีน้ำตาลปกคลุมอยู่ ลำตัวของหนอนสีขาวซีด มีขนาดใหญ่และยาวกว่าหนอนกอลาย
หนอนกอสีชมพู ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนสีน้ำตาล อายุ ๗ - ๑๑ วัน ไข่เป็นเม็ดกลมสีชมพูเป็นกลุ่มเรียงกันอยู่ในกาบใบที่แนบอยู่กับยอดหรือใกล้ยอดใบ ระยะไข่ ๖ - ๗ วัน หนอนลำตัวสีชมพูมีขนาดใหญ่กว่าหนอนกอลาย
หนอนกอลายใหญ่ ตัวเต็มวัยสีน้ำตาลเข้มกว่าหนอนกอลายจุดเล็กมีแถบสีน้ำตาลไหม้เล็ก ๆเป็นแนวนอนบนปีกคู่หน้าเห็นได้ชัด ตัวเต็มวัย ๙ - ๑๕ วัน ลักษณะไข่และระยะไข่เหมือนหนอนกอลายจุดเล็ก แต่ไข่สีขาวใสกว่า ระยะหนอนยาวกว่าคือ ๓๐ - ๔๐ วัน และลักษณะหนอนมีแถบสีน้ำตาลอมม่วงเป็นแถบใหญ่พาดตามยาวของลำตัวเห็นชัดเจน ระยะดักแด้ ๙ - ๑๕ วัน
หนอนกอลายจุดใหญ่ ตัวเต็มวัยสีเข้มที่สุดในบรรดาตัวเต็มวัยของหนอนกอทั้งหมด กลางปีกคู่หน้าจะมีขีดสีน้ำตาลหนึ่งเส้นพาดไปตามแนวนอนของปีกเห็นได้ชัดตัวเต็มวัย ๕ - ๑๐ วัน ไข่เป็นกลุ่มสีขาวครีมซ้อนกันคล้ายเกล็ดปลาอยู่ใต้และบนใบอ้อย ระยะไข่ ๓ - ๖ วัน ระยะหนอน ๓๐ - ๓๕ วัน ลักษณะหนอนคล้ายหนอนกอลายจุดเล็กมากเว้นแต่มีจุดด้านหลังของลำตัวกลมใหญ่กว่า (ขนาดเท่าหัวเข็มหมุด) และมีสีน้ำตาลเข้มเห็นเด่นชัดกว่า
ลักษณะการทำลาย
เมื่อหนอนกออ้อยฟักออกมาจากไข่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม กัดกินอยู่บริเวณผิวใบหรือหน่ออ้อยในระยะเวลาสั้น ๆ หลังจากนั้นจึงเจาะเข้าไปภายในลำต้นที่อยู่บริเวณผิวดินและอาศัยอยู่ภายในกออ้อยหนอนกออ้อยมีลักษณะนิสัยชอบการเคลื่อนย้าย คือหลังจากหน่ออ้อยที่หนอนกออาศัยกัดกินอยู่ตายก็จะย้ายไปทำลายหน่อใหม่ ดังนั้นหนอนกออ้อย ๑ ตัว จะสามารถทำลายอ้อยได้ ๓ – ๔ หน่อ โดยทั่วไปแล้วหนอนกออ้อยสามารถทำลายอ้อยได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ตั้งแต่ระยะแทงหน่อ ระยะแตกกอ ระยะย่างปล้อง ไปจนถึงระยะใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิต
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. ปลูกอ้อยพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อหนอนกอ เช่น เอฟ๑๕๖ อู่ทอง๑ และ เค๘๔-๒๐๐
๒. ถ้าต้องไถตออ้อยทิ้งให้ทำลายตออ้อยให้หมด เพื่อกำจัดหนอนหรือดักแด้ที่อยู่ในตออ้อย
๓. ลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในระยะเริ่มปลูก เพราะหนอนจะชอบหน่ออ้อยที่มีความอวบอ้วน
๔. สำรวจแปลงอ้อยอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
๕. ใช้ศัตรูธรรมชาติ เช่น
๕.๑ ปล่อยแตนเบียนหนอนโคทีเซีย อัตรา ๑๐๐ – ๕๐๐ ตัวต่อไร่ เมื่อพบหนอนปล่อยทุก ๗ วัน จำนวน ๔ ครั้ง
๕.๒ ปล่อยแตนเบียนไข่ตริโคแกรมมา อัตรา ๒๐,๐๐๐ ตัวต่อไร่ เมื่ออ้อยอายุ ๒ เดือน ปล่อยทุก ๑๕ วัน จำนวน ๒ ครั้ง
๕.๓ ปล่อยแมลงหางหนีบ อัตรา ๕๐๐ ตัวต่อไร่
๖. หากจำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลงให้ใช้ ดังนี้
๖.๑ พ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลงเดลต้ามีทรีน อัตรา ๒๐ ซีซี ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร พ่น ๒ ครั้ง ห่างกันครั้งละ ๑๕ วัน
๖.๒ พ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลงไซเปอร์เมทริน อัตรา ๑๕ - ๓๐ ซีซี ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
๗. พ่นด้วยปิโตเลียมออยส์ ๘๓.๙% อีซี ๑๐๐ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร ควรพ่นก่อนการปล่อยแตนเบียนหนอนหรือแตนเบียนไข่ประมาณ ๑๐ - ๑๕ วัน
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
เรียบเรียงโดย : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 21/07/2560