ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๔๑ ประจำวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๑
หนอนเจาะเมล็ดทุเรียน (Durain Seed Borer)
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนของประเทศไทย ที่อยู่ในระยะพัฒนาของผล โดยเฉพาะในจังหวัดระยอง จันทบุรี และจังหวัดตราด และภาคใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้ทุเรียนที่อยู่ในระยะผลอ่อน ระวังหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนระบาดทำความเสียหายแก่ทุเรียน ซึ่งสามารถทำความเสียหายให้แก่ผลผลิตสูงถึงร้อยละ ๘๐ -๙๐ ในช่วงต้นฤดูฝนนี้เป็นช่วงที่พบการระบาดทำลายของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนสูงมาก เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นสูง ดินนิ่มดักแด้หนอนเจาะเมล็ดทุเรียนที่อยู่ในดินจะฟักออกมาและทำลายภายในผลทุเรียน และเมื่อมองจากภายนอกผลจะไม่พบร่องรอยของการทำลาย ดังนั้น ขอให้เกษตรกรสำรวจสวนทุเรียนอย่างสม่ำเสมอ หากพบลักษณะการทำลายของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนให้รีบขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อหาแนวทางควบคุม และป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mudaria luteileprosa Holloway
วงศ์ : Noctuidae
อันดับ : Lepidoptera
ชื่ออื่น : หนอนใต้ หนอนมาเลย์ หนอนรู
รูปร่างลักษณะ
ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนสีน้ำตาลอมเทา มีจุดสีขาวบนสันหลังอก มีจุดใหญ่ที่ขอบปีกอย่างน้อย ๓ จุด และจุดเล็กที่มุมปีกอีก ๑ – ๓ จุด ตัวเมียหนึ่งตัวสามารถวางไข่ได้ ๑๐๐ – ๒๐๐ ฟอง โดยวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ บริเวณหนามทุเรียนใกล้ขั้วผล ตัวหนอนที่ฟักออกจากไข่จะเจาะไชเข้าไปภายในผล และอาศัยกัดกินอยู่ภายในเมล็ดโดยปราศจากร่องรอยของการทำลายผิวผลภายนอกให้เห็นจนกระทั่งตัวหนอนโตเต็มที่มีขนาดยาวประมาณ ๔ เซนติเมตร ก็จะเจาะผลทุเรียนออกมาเข้าดักแด้ในดินที่ชื้นนาน ๑ – ๙ เดือน จึงฟักออกมาเป็นตัวเต็มวัย ดักแด้อาจมีอายุนานกว่านั้น ในกรณีที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม แต่ถ้ามีฝนตกหนักจะช่วยกระตุ้นให้ออกเป็นตัวเต็มวัยเร็วขึ้น
ลักษณะการทำลาย
หนอนเจาะเมล็ดทุเรียนจะเจาะไชเข้าไปภายในเมล็ด กัดกิน และขับถ่ายมูลออกมา ทำให้เนื้อทุเรียนเปรอะเปื้อนเสียหาย ตัวหนอนที่ฟักออกจากไข่จะเจาะเข้าไปในผลและอาศัยกัดกินอยู่ภายในเมล็ดโดยไม่ทำลายเนื้อทุเรียนเลย และเมื่อมองจากภายนอกผลจะปราศจากร่องรอยของการทำลายผิวผล ยกเว้นจะมีทางเดินเล็กๆ ระหว่างเนื้อและผิวเปลือกด้านในจะมีรอยเป็นเส้นซึ่งเมล็ดที่ถูกทำลายส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะที่เมล็ดแข็งแล้ว โดยหนอนจะใช้เวลาเติบโตอยู่ภายในเมล็ดจนกระทั่งตัวหนอนโตเต็มที่จึงเจาะรูเพื่อออกจากผลทุเรียนและเข้าดักแด้ในดิน เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมจึงออกเป็นตัวเต็มวัย รูที่หนอนเจาะออกมามีขนาดเล็ก รอบๆ ปากรูจะมีขุยสีขาวปนสีส้มติดอยู่ผลที่ถูกทำลายไม่สามารถขายเพื่อรับประทานสดได้ ต้องนำไปแปรรูปเป็นทุเรียนกวนเท่านั้น ซึ่งราคาต่ำกว่าผลสด
การแพร่กระจาย
หนอนเจาะเมล็ดทุเรียนแพร่ระบาดในพื้นที่ปลูกทุเรียนของภาคใต้ และภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด) พบระบาดมากระหว่างเดือนมีนาคม - พฤษภาคม
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. เกษตรกรไม่ควรขนย้ายเมล็ดทุเรียนจากที่อื่นเข้ามาในแหล่งปลูก ถ้ามีความจำเป็นควรทำการคัดเลือกเมล็ดอย่างระมัดระวัง หรือแช่เมล็ดด้วยสารเคมีกำจัดแมลง เช่น มาลาไธออน ๘๓% อีซี อัตรา ๔๐ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือคาร์บาริล (เซฟวิน ๘๕% ดับลิวพี) อัตรา ๕๐ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร ก่อนทำการขนย้ายจะช่วยกำจัดหนอนได้
๒. สำรวจติดตามสถานการณ์หนอนเจาะเมล็ดโดยตรวจดูตัวเต็มวัยของหนอนเจาะเมล็ดในกับดักแสงไฟในช่วงเวลาต่างๆ ดังนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์และพฤษภาคม ตรวจดู ๒ - ๓ ครั้ง ต่อสัปดาห์ และในเดือนมีนาคม - เมษายน ตรวจดูทุกวัน หากมีฝนตกหนักติดต่อกัน ๒ – ๓ วัน ควรตรวจดูทุกวัน
๓. ห่อผลทุเรียนโดยใช้ถุงพลาสติกสีขาวขุ่นเจาะรูที่บริเวณขอบล่างเพื่อให้หยดน้ำระบายออก สามารถป้องกันผีเสื้อตัวเต็มวัยมาวางไข่ได้ โดยเริ่มห่อตั้งแต่ผลทุเรียนมีอายุ ๖ สัปดาห์ เป็นต้นไป ก่อนห่อผลควรตรวจสอบ และป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งอย่าให้มีติดอยู่กับผลที่จะห่อ
๔. รักษาสวนให้สะอาดอยู่เสมอ หมั่นตรวจสวนหลังทุเรียนติดผลแล้ว เมื่อพบผลที่ถูกทำลายหรือผลร่วงในสวนที่มีการระบาดของหนอนเจาะเมล็ด ควรเก็บผลร่วงไปเผาทำลายทิ้งทุกวัน เพื่อลดการเพิ่มปริมาณ เนื่องจากหลังจากทุเรียนร่วงไม่นาน ถ้ามีหนอนอยู่ภายในหนอนจะเจาะรูออกมาเพื่อเข้าดักแด้ในดิน
๕. การป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมีกำจัดแมลง เมื่อเริ่มพบตัวเต็มวัย โดยพ่นทุก ๗ – ๑๐ วัน ดังนี้
- ไซเพอร์เมทริน/โฟวาโลน (พาร์ซอน ๖.๒๕% /๒๒.๕% อีซี) อัตรา ๔๐ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ
- ไดอะซีนอน บาซูดิน ๖๐% อีซี อัตรา ๔๐ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ
- คาร์บาริล (เซฟวิน ๘๕% ดับบลิวพี) อัตรา ๕๐ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
ที่มา : เอกสารวิชาการลำดับที่ 13/2547 เรื่องทุเรียน กรมวิชาการเกษตร
ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี
สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด กรมส่งเสริมการเกษตร
ที่ปรึกษา : นางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
นางสาวสุมนา สิมาสฤษฏ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช
เรียบเรียงโดย : นางสาวเบญจมาภรณ์ ชุ่มจิตร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 30/04/2561