ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๓๑ ประจำวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๑
หนอนเจาะขั้วผลเงาะ (cocoa pod borer)
เตือนเกษตรกรชาวสวนเงาะในภาคตะวันออกระวังการเข้าทำลายของหนอนเจาะขั้วผลเงาะในระยะผลแก่ถึงเก็บเกี่ยว ในช่วงนี้สภาพอากาศกลางวันร้อน และมีฝนตกกระจายในหลายพื้นที่ เหมาะต่อการระบาดของหนอนเจาะขั้วผลเงาะ ซึ่งปกติระบาดรุนแรงในช่วงใกล้เก็บเกี่ยว ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจสวนอย่างสม่ำเสมอ หากพบการเข้าทำลายให้รีบขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อหาทางควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง ทำให้ผลผลิตเสียคุณภาพ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Conopomorpha cramerella Snellen
วงศ์ : Gracillariidae
อันดับ : Lepidoptera
ชื่ออื่น : cocoa pod borer
รูปร่างลักษณะ
ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก ตอนกลางวันอาศัยอยู่ตามต้นเงาะ เพศเมียวางไข่ที่ผลเงาะ ไข่มีลักษณะกลมรี เมื่อหนอนฟักออกมาจากไข่จะเจาะเข้าไปในผลเงาะบริเวณขั้วผล หรือต่ำกว่าขั้วลงมาเล็กน้อย ตัวหนอนสีขาว หัวสีน้ำตาลอ่อน ระยะหนอนประมาณ ๑๔ – ๑๘ วัน ก็จะเข้าดักแด้โดยไต่ออกมาจากผล และหาที่เหมาะสมเข้าดักแด้ ระยะดักแด้ ๖ - ๘ วัน
พืชอาหาร
เงาะ โกโก้
ลักษณะการทำลาย
หนอนเมื่อฟักออกจากไข่จะเจาะเข้าไปในผลเงาะบริเวณขั้วผล หรือต่ำกว่าขั้วลงมาเล็กน้อย บางครั้งอาจทำลายถึงเนื้อและเมล็ด การทำลายของหนอนไม่สามารถสังเกตได้จากลักษณะภายนอกได้ เมื่อรับประทานผลเงาะจึงจะพบหนอน
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุกสัปดาห์
๒. เก็บเงาะในขณะที่ผลยังไม่สุกมากเกินไป เพื่อเลี่ยงการทำลายของหนอน
๓. เก็บผลเงาะที่ร่วงนำไปฝังหรือเผาทำลาย เพื่อป้องกันการระบาดในฤดูถัดไป
๔. .ในสวนที่พบการระบาด เนื้อเงาะเริ่มแก่ ควรพ่นด้วยสารเคมีคาร์บาริล (เซฟวิน ๘๕% ดับบลิวพี) อัตรา ๖๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร พ่นซ้ำตามความจำเป็น พบทำลายมากในเงาะสีชมพู งดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย ๗ วัน
ที่มา : ๑. สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร
๒. กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร
๓. https://www.cabi.org/isc/datasheet/7017
ที่ปรึกษา : นางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
นางสาวสุมนา สิมาสฤษฏ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช
เรียบเรียงโดย : นางสาวเบญจมาภรณ์ ชุ่มจิตร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 11/04/2561