ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๑๔๓ ประจำวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทุกภาคของประเทศไทย จากข้อมูลการสำรวจแปลงติดตามสถานการณ์และข้อมูลรายงานสถานการณ์ศัตรูข้าว พบการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดในเขตภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากช่วงสภาพอากาศในช่วงนี้เหมาะต่อการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ดังนั้น ขอให้เกษตรกรเฝ้าระวังการระบาด และหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ หากพบให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน เพื่อดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nilaparvata lugens
วงศ์ : Delphacidae
อันดับ : Homoptera
ชื่อสามัญอื่น : เพลี้ยกระโดด เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยหลุม และเพลี้ย
รูปร่างลักษณะ
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นแมลงปากดูด ตัวเต็มวัยมีขนาดยาวประมาณ ๓ มิลลิเมตร กว้าง ๑ มิลลิเมตร ลำตัวมีสีน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาลปนดำ มีรูปร่าง ๒ ลักษณะ คือ ชนิดปีกยาว (macropterous form) และชนิดปีกสั้น (brachyterous form) ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ตัวเต็มวัยมีชีวิตประมาณ ๒ สัปดาห์ตัวเมียชนิดปีกยาวสามารถวางไข่ได้ ๑๐๐ ฟอง และตัวเมียชนิดปีกสั้นสามารถวางไข่ได้ ๓๐๐ ฟองในช่วงชีวิต ๒ สัปดาห์ โดยตัวเมียจะวางไข่เป็นกลุ่มเรียงแถวที่เส้นกลางใบหรือกาบใบ กลุ่มละประมาณ๘ - ๑๐ ฟอง ซึ่งมองเห็นเป็นรอยช้ำสีน้ำตาลตรงบริเวณที่วางไข่ และไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนภายใน ๗ - ๙ วันตัวอ่อนลอกคราบ ๕ ครั้ง ภายในระยะเวลา ๑๑ - ๑๗ วัน เพื่อเป็นตัวเต็มวัยโดยทั่วไปแล้วตัวเมียมีอายุเฉลี่ยประมาณ ๑๕ วัน ส่วนตัวผู้มีอายุเฉลี่ยประมาณ ๑๓ วัน ตัวเต็มวัยชนิดปีกสั้นบินไม่ได้จะอาศัยอยู่ในแปลงนาดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นข้าวและขยายพันธุ์ ส่วนพวกปีกยาวสามารถบินอพยพไปยังแปลงนาอื่นได้
ลักษณะการทำลาย
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นแมลงปากดูด ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากกาบใบข้าวบริเวณโคนต้นเหนือระดับน้ำเล็กน้อย หรือที่เส้นกลางใบหลังใบข้าวโดยใช้ปากแทงดูดกินน้ำเลี้ยงจากท่อน้ำและท่ออาหาร ทำให้ต้นข้าวแสดงอาการใบเหลืองเติบโตช้า ถ้าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดรุนแรง ต้นข้าวจะแสดงอาการไหม้แห้งคล้ายถูกน้ำร้อนลวก เรียกว่า ฮอพเพอร์เบิร์น “hopper burn” ทำให้ข้าวแห้งตาย เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถทำลายข้าวได้ทุกระยะ สามารถพัฒนาและปรับตัวให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมและอาหาร เช่น เมื่อมีอาหารมากจะพัฒนาตัวเองเป็นชนิดปีกสั้นและขยายพันธุ์ได้มาก แต่เมื่ออาหารมีน้อยจะพัฒนาตัวเองเป็นชนิดปีกยาวเพื่ออพยพไปยังแหล่งอาหารอื่น
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. ในฤดูปลูกถัดไปควรปลูกข้าวพันธุ์ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น กข ๖ กข ๓๑ กข ๔๑ กข ๔๗ สุพรรณบุรี ๒ สุพรรณบุรี ๓ สุพรรณบุรี ๙๐ พิษณุโลก ๒ เป็นต้น และไม่ควรปลูกพันธุ์เดียวติดต่อกันเกิน ๔ ฤดูปลูก ควรปลูกสลับกันระหว่างพันธุ์ต้านทานสูงกับพันธุ์ทนทานหรือพันธุ์อ่อนแอปานกลาง โดยพิจารณาอายุเก็บเกี่ยวให้ใกล้เคียงกัน เพื่อลดความเสียหายเมื่อเกิดการระบาดรุนแรง
๒. สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำองค์ประกอบต่าง ๆ ของระบบนิเวศในแปลงนานำมาวิเคราะห์ และตัดสินใจด้วยตนเองในการจัดการแปลงจากสถานการณ์จริง
๓. ในแหล่งที่มีการระบาด และควบคุมระดับน้ำในนาได้ หลังปักดำหรือหว่าน ๒-๓ สัปดาห์จนถึงระยะตั้งท้องควบคุมน้ำในแปลงนาให้พอดินเปียก หรือมีน้ำเรี่ยผิวดินนาน ๗-๑๐ วัน แล้วปล่อยขังทิ้งไว้ให้แห้งเองสลับกันไป จะช่วยลดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
๔. ใช้เชื้อราบิวเวอเรีย (เชื้อสด) อัตรา ๑ กิโลกรัม (๒ ถุง) ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร ควรพ่นในบริเวณที่พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและควรพ่นในเวลาเย็น
สารเคมีที่แนะนำให้ใช้ในการกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
๑. ข้าวระยะกล้าถึงแตกกอ (อายุ ๓๐-๔๕ วัน)
- บูโพรเฟซิน ๒๕ % WP ๑๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
- บูโพรเฟซิน ๑๐ % WP ๒๕ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
- บูโพรเฟซิน ๕ % WP + ไอโซโปรคาร์บ ๒๐ % WP ๕๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
๒. ข้าวระยะแตกกอเต็มที่
- อีโทเฟนพร็อกซ์ ๑๐ % EC ๒๐ ซีซีต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
- อีโทเฟนพร็อกซ์ ๕ % EC ๔๐ ซีซีต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
- คาร์โบซัลเฟน ๒๐ % EC ๑๑๐ ซีซีต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
- ฟีโนบูคาร์บ ๕๐ % EC ๖๐ ซีซีต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
- ไฮโซโปรคาร์บ ๕๐ % WP ๖๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
๓. ข้าวระยะตั้งท้องถึงออกรวง
- ไดโนทีฟูแรน ๑๐ % WP ๑๕ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
- ไทอะมิโทแซม ๒๕ % WG ๒ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
- โคลไทอะนิดิน ๑๖ % ๖-๙ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
- อิมิดาโคลพริด ๑๐ % SL ๑๕ ซีซีต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
- อีทีโพรล ๑๐ % SC ๕๐ ซีซีต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
สารเคมีที่ไม่แนะนำให้ใช้ในนาข้าว
สารเคมีบางชนิดที่ไม่แนะนำให้ใช้ในนาข้าวเนื่องจากจะทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดเพิ่มขึ้นเป็นสารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ ได้แก่
๑. แอลฟาไซเพอร์เมทริน ๑๐ % EC ชนิดพ่นน้ำ
๒. ไซแฮโลทริน แอล ๕ % EC ชนิดพ่นน้ำ
๓. ไซเพอร์เมทริน ๑๕ % EC ๒๕ % EC ชนิดพ่นน้ำ
ที่มา : สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว
เรียบเรียงโดย กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 08/11/2560