ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๑๐๒ ประจำวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๐
โรคลำต้นไหม้หน่อไม้ฝรั่ง (Stem Blight Disease)
เตือนเกษตรกรที่ปลูกหน่อไม้ฝรั่งทุกแหล่งปลูกของประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตหน่อไม้ฝรั่งส่งออกต่างประเทศ ในช่วงนี้สภาพอากาศร้อนชื้นและมีฝนตกชุก เหมาะต่อการเกิดเชื้อราสาเหตุโรคลำต้นไหม้หน่อไม้ฝรั่ง ซึ่งโรคลำต้นไหม้เป็นโรคสำคัญของหน่อไม้ฝรั่ง ทำให้ลำต้นหน่อไม้ฝรั่งเกิดแผล ต้นชะงักการเจริญ ใบเหลืองและร่วง การแตกหน่อและขนาดของหน่อลดลง ในแปลงปลูกเก่าอาจพบการระบาดรุนแรงจนถึงขั้นทำให้หน่อไม้ฝรั่งแห้งตายทั้งแปลง ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเริ่มพบอาการปรากฏให้เห็นเป็นจุดช้ำเล็กๆ ให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัดเพื่อดำเนินการควบคุม และหาทางป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Phomopsis asparagi
ลักษณะอาการ
ลักษณะอาการของโรคจะปรากฏให้เห็นชัดเจนเมื่อลำต้นมีขนาดใหญ่ หรือมีอายุตั้งแต่ ๑ เดือนขึ้นไป ต้นที่มีอายุต่ำกว่า ๑ เดือน อาการอาจปรากฏให้เห็นเป็นจุดช้ำเล็กๆ เท่านั้น โรคนี้สามารถเกิดได้กับทุกส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือพื้นดิน ทั้งส่วนที่เป็นลำต้น และกิ่งก้านที่แตกแขนงออกมาจากลำต้น แต่อาการที่รุนแรงที่สุดคืออาการที่เกิดบริเวณโคนต้น ระดับผิวดิน อาการขั้นเริ่มต้นเป็นจุดช้ำเล็กๆ สีเขียว รูปกระสวยสีของจุดแผลเข้มกว่าสีเขียวของลำต้นเล็กน้อย สามารถสังเกตเห็นได้โดยง่าย ในระยะต่อมาแผลจะพัฒนาขยายใหญ่มากขึ้นเป็นแผลรูปทรงรียาวไปตามลำต้น ขนาดประมาณ ๒ x ๕ มิลลิเมตร ตรงกลางแผลมีสีน้ำตาลอ่อน ขอบแผลมีสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลแดง ต่อมาเมื่อแผลขยายใหญ่ บริเวณกลางแผลจะเกิดมีจุดสีดำเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วแผล อาการส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือแผลอีกทั้งกิ่ง ก้าน ใบ โดยทั่วไปจะแสดงอาการเหลืองซีดอย่างรวดเร็ว ในกรณีที่เกิดแผลบริเวณข้อของลำต้นเมื่อสภาวะเหมาะสมแผลจะขยายอย่างรวดเร็ว ทำให้ลำต้นหน่อไม้ฝรั่งหักพับลงได้ หากอาการรุนแรงลำต้นจะทรุดโทรม ใบร่วง และแห้งตายในที่สุด
การแพร่ระบาด
เชื้อราจะแพร่กระจายไปยังต้นปกติที่อยู่บริเวณใกล้เคียง เมื่อถูกน้ำชะ หรือปลิวไปตามลม
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
การควบคุมโรคหรือการป้องกันกำจัดโรคต้นไหม้แห้งควรกระทำหลายวิธีร่วมกัน วิธีการต่างๆ ได้แก่
๑. การแต่งกอเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดวิธีหนึ่ง โดยแต่งต้นเป็นโรคทิ้งให้เหลือกอละ ๓ – ๔ ต้น การแต่งต้นเป็นโรคทิ้งจะช่วยลดแหล่งสะสมของเชื้อและช่วยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ลดความชื้นในทรงพุ่ม การแต่งกอเพื่อควบคุมโรคให้ได้ผลดี ให้แต่งกอทั้งในช่วงเก็บหน่อและช่วงพักต้น
๒. การพักต้นเป็นวิธีการที่เกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงหน่อไม้ฝรั่งพึงปฏิบัติเป็นประจำ โดยทั่วไปจะต้องการพักต้น ๔ – ๖ เดือนต่อปี การพักต้นน้อยเกินไปจะทำให้อายุการเก็บหน่อสั้นลง ต้นโทรมเร็วและอ่อนแอต่อโรค
๓. แต่งทรงพุ่มโดยตัดแต่งกิ่งก้านบริเวณส่วนล่างของทรงพุ่มให้โปร่ง
๔. กำจัดเศษซากพืชส่วนของต้นที่เป็นโรค ตลอดจนเศษพืชที่ร่วงหล่นอยู่ตามพื้นดินบริเวณแปลงปลูก นำไปเผาทำลาย
๕. กรณีที่มีโรคระบาดรุนแรงในพื้นที่ปลูกขนาดใหญ่แนะนำให้ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราพ่นทุก ๕ – ๗ วัน ในช่วงฤดูฝนที่มีการระบาดมาก แต่ถ้าโรคลดลงแล้วควรลดการพ่นสารเคมีให้ห่างกันออกไปเป็น ๑๐ – ๑๕ วัน พ่นให้ทั่วลำต้นและโคนต้น สารเคมีที่แนะนำให้ใช้ ได้แก่
- คาร์เบนดาซิม อัตรา ๑๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
- โปรบิเน็บ อัตรา ๔๐ กรัมต่อนํ้า ๒๐ ลิตร
- แมนโคเซ็บ อัตรา ๔๘ กรัมต่อนํ้า ๒๐ ลิตร
๖. ในแปลงที่ปลูกหน่อไม้ฝรั่งมานานจะมีการสะสมโรคมากขึ้น และรุนแรงขึ้นทุกปี ควรปลูกพืชอื่นหมุนเวียนเป็นเวลาอย่างน้อย ๒ ปี จึงกลับมาปลูกหน่อไม้ฝรั่งใหม่ ๗. เนื่องจากแปลงที่ให้น้ำด้วยระบบพ่นฝอย (sprinkler) มักพบการระบาดของโรคมากกว่าแปลงที่ให้น้ำตามร่อง (furrow) หากต้องการใช้ระบบพ่นฝอยก็ควรปรับปรุงเวลาและความถี่ของการพ่นฝอยให้เหมาะสมกับฤดูกาล
ที่มา : ๑. สมชาย สุขะกุล, โรคของหน่อไม้ฝรั่งในประเทศไทย, ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใน ไทยเกษตรศาสตร์ (http://www.thaikasetsart.com)
๒. คลินิกพืช, โรคลำต้นไหม้หน่อไม้ฝรั่ง (http://www.agriqua.doae.go.th)
๓.Yuan-Min Shen, Taichung District Agricultural Research and Extension Station, Bugwood.org, Forestry Images is a joint project of The University of Georgia
เรียบเรียงโดย : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 21/07/2560