ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๕๐ ประจำวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๑
โรคใบด่างมันสำปะหลัง (Cassava Mosaic Virus)
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดที่ปลูก มันสำปะหลังในแถบภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฝ้าระวัง
และติดตามสถานการณ์ โรคใบด่างมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง ด้วยขณะนี้มีรายงานว่าพบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในประเทศเวียดนามและกัมพูชา
ซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศไทยและจุดที่พบการระบาดไม่ไกลจากประเทศไทยมากนัก จึงมีความเสี่ยงสูงที่โรคใบด่างมันสำปะหลังจะเข้ามาระบาดและทำความเสียหาย
ให้กับผลผลิตมันสำปะหลังในประเทศไทย ดังนั้น ขอให้เกษตรกรสำรวจแปลงปลูกมันสำปะหลังอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นมันสำปะหลังแสดงอาการใบด่างเหลือง
ใบเสียรูปทรง และ มีขนาดเล็กลง ยอดที่แตกใหม่แสดงอาการด่างเหลือง ลำต้นแคระแกรน ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด
เพื่อกำหนดแนวทางการควบคุมและดำเนินการป้องกันกำจัดทันที และหากเกิดการระบาดอาจทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังเสียหายมากกว่า ๘๐ – ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
เชื้อสาเหตุ : Cassava mosaic virus (สายพันธุ์ Sri Lankan (SLCMV))
ลักษณะอาการ
ต้นมันสำปะหลังจะแสดงอาการใบด่างเหลือง ใบเสียรูปทรง และมีขนาดเล็กลง ยอดที่แตกใหม่แสดงอาการด่างเหลือง ลำต้นแคระแกรน
การแพร่ระบาด
แพร่กระจายผ่านทางท่อนพันธุ์เป็นส่วนใหญ่ และมีแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหะนำโรคมาสู่ต้นมันสำปะหลัง
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. ห้ามนำเข้าท่อนพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์ของมันสำปะหลัง ยกเว้นมันเส้น และหัวมันสดจากประเทศที่มีรายงานพบการระบาดของโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง
ซึ่งเป็นศัตรูพืชกักกันตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดศัตรูพืชเป็นสิ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๐ ทั้งนี้จึงควรงดการนำเข้าท่อนพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์จากประเทศเวียดนาม กัมพูชาและประเทศที่มีรายงานการระบาด
๒. สำรวจแปลงมันสำปะหลังอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
๓. ใช้พันธุ์ที่ปลอดโรค หรือจากต้นพันธุ์มันสำปะหลังที่ไม่แสดงอาการของโรค
๔. หากพบต้นมันสำปะหลังแสดงอาการใบด่าง ให้ขุดหรือถอนต้นที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลง และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร
และกรมวิชาการเกษตรโดยทันที
๕. ปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อป้องกันกำจัดเชื้อโรคจากต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคตกค้างอยู่ในแปลง หลีกเลี่ยงการขนย้ายท่อนพันธุ์จากแหล่งที่มีโรคไปสู่แหล่งที่ยัง
ไม่เคยมีการระบาด
๖. กำจัด หรือหลีกเลี่ยงการปลูกพืชอาศัยของโรคใบด่างมันสำปะหลัง เช่น สบู่ดำ ละหุ่ง และพืชอาศัยของแมลงพาหะ เช่น กระเพรา โหระพา ผักชีฝรั่ง พริก มะเขือเปราะ มันฝรั่ง และพืชตระกูลถั่ว
๗. กำจัดแมลงพาหะ เช่น แมลงหวี่ขาวยาสูบ
ที่มา : กรมวิชาการเกษตร , มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ที่ปรึกษา : นางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
นางสาวสุมนา สิมาสฤษฏ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช
เรียบเรียงโดย : นางสาวเบญจมาภรณ์ ชุ่มจิตร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ
นายสามารถ ศรีวิลัย นักวิชาการเกษตรชำนาญการ
กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 06/06/2561