ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๑๐๖ ประจำวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๐
โรคยอดและดอกเน่าในพริก
เตือนเกษตรกรที่ปลูกพริกในทุกภาคของประเทศไทย เนื่องจากช่วงนี้ฝนตกกระจายหลายพื้นที่ สภาพอากาศมีความชื้นสูง เหมาะต่อการระบาดของโรคยอดและดอกเน่าในพริก โรคพริกหัวโกร๋น ดังนั้น เกษตรกรในควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเริ่มพบอาการของโรค ให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อดำเนินการหาแนวทางควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Choanephora cucurbitarum Thaxt.
ลักษณะอาการ
อาการส่วนยอด เช่น ใบอ่อน ดอก และผลอ่อน จะเน่าเป็นสีน้ำตาลไหม้ ถ้าอากาศมีความชื้นสูงมากๆ จะเห็นเส้นใยราสีขาวหยาบๆ ขึ้นเป็นกระจุกบนเนื้อเยื่อสีน้ำตาล เส้นใยเหล่านี้เจริญตั้งตรงขึ้นมาจากใบมีลักษณะเป็นเส้นสั้นๆ ที่ปลายเส้นใยโปร่งออกไปเป็นก้อนสีดำเล็กๆ สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ถ้าอากาศแห้งเส้นใยเหล่านี้จะแห้งและหลุดหายไป พริกจะแตกยอดไม่ได้
การแพร่ระบาด
เชื้อสาเหตุโรคสามารถแพร่ไปกับน้ำในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง และสภาพที่มีฝนตก ลมพัดแรง จะช่วยให้โรคแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางรวดเร็ว พบมากในระยะที่มีฝนตกชุก
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. สำรวจแปลงพริกอย่างสม่ำเสมอ
๒. ในระยะที่มีฝนตกชุกควรจะพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช ป้องกันยอดอ่อนไว้ก่อน เช่น ซาพรอล (Saprol) ชื่อสามัญไตรโฟรีน(Triforine), ริโดมิลเอ็มแซด หรือ เมตาแลกซิลเอ็มแซด (Metalaxyl + Mancozeb) อัตราตามคำแนะนำ
ที่มา : พิสุทธิ์ เอกอำนวย ,โรคและแมลง ศัตรูพืชที่สำคัญ
เรียบเรียงโดย : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 31/07/2560