ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๑๕๕ ประจำวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๐
โรคใบจุดสีน้ำตาล (Brown Spot Disease)
เตือนเกษตรกรที่ปลูกข้าวในทุกภาคของประเทศไทย จากข้อมูลจากแปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูข้าวพบโรคใบจุดสีน้ำตาล ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ประกอบกับสภาพอากาศเหมาะต่อการระบาดของโรค ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบการอาการของโรคใบจุดสีน้ำตาล ใบข้าวมีแผลจุดสีน้ำตาลรูปกลมหรือรูปไข่ ขอบนอกสุดของแผลมีสีเหลือง ให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัดเพื่อดำเนินการควบคุม และหาทางป้องกันกำจัด
ก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Bipolaris oryzae
Synonyms : Helminthosporium oryzae Breda de Haan.
ลักษณะอาการ
แผลที่ใบข้าวมีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลรูปกลมหรือรูปไข่ ขอบนอกสุดของแผลมีสีเหลืองแต่บางครั้งพบแผลไม่เป็นวงกลมหรือรูปไข่ แต่จะเป็นรอยเปื้อนคล้ายสนิมกระจัดกระจายทั่วไปบนใบข้าว แผลยังสามารถเกิดบนเมล็ดข้าวเปลือก (โรคเมล็ดด่าง) บางแผลมีขนาดเล็ก บางแผลอาจใหญ่คลุมเมล็ดข้าวเปลือก ทำให้เมล็ดข้าวเปลือกสกปรก เสื่อมคุณภาพ เมื่อนำไปสีข้าวสารจะหักง่าย พบมากในระยะแตกกอ
การแพร่ระบาด
เกิดจากสปอร์ของเชื้อราปลิวไปตามลม และติดไปกับเมล็ด
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. สำรวจแปลงนา อย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
๒. กำจัดวัชพืชในนา ดูแลแปลงให้สะอาด และใส่ปุ๋ยในอัตราที่เหมาะสม
๓. ใส่ปุ๋ยโปแตสเซียมคลอไรด์ (๐-๐-๖๐) อัตรา ๕ - ๑๐ กิโลกรัม ต่อไร่ ช่วยลดความรุนแรงของโรค
๔. ถ้าพบอาการของโรคใบจุดสีน้ำตาลรุนแรงทั่วไป ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ใบในระยะข้าวแตกกอ หรือในระยะที่ต้นข้าวตั้งท้องใกล้ออกรวง เมื่อพบอาการใบจุดสีน้ำตาลที่ใบธงในสภาพฝนตกต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดโรคเมล็ดด่าง ควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น อีดิเฟนฟอส คาร์เบนดาซิม แมนโคเซบ หรือ คาร์เบนดาซิม+แมนโคเซบ ตามอัตราที่ระบุในฉลาก
ในฤดูถัดไป
๑. ใช้พันธุ์ต้านทานที่เหมาะสมกับสภาพท้องที่ และโดยเฉพาะพันธุ์ที่มีคุณสมบัติต้านทานโรคใบสีส้ม เช่น ภาคกลางใช้พันธุ์ปทุมธานี ๑ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้พันธุ์เหนียวสันป่าตอง และหางยี ๗๑
๒. คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซบ หรือคาร์เบนดาซิม+แมนโคเซบ อัตรา ๓ กรัม ต่อเมล็ดพันธุ์ ๑ กิโลกรัม
๓. ปรับปรุงดินโดยการไถกลบฟาง หรือเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ดินโดยการปลูกพืชปุ๋ยสด หรือปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรค
ที่มา : ๑. กรมการข้าว
เรียบเรียงโดย : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 13/12/2560