ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๓๔ ประจำวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๑
โรคไหม้ข้าว (ระยะกล้า)
เตือนเกษตรกรที่ปลูกข้าวในทุกภาคของประเทศไทย จากข้อมูลจากแปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูข้าวพบโรคไหม้ข้าวในหลายพื้นที่ทางภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ปลูกข่าวในระยะกล้า เนื่องจากมีฝนตกทำให้มีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูง สภาพอากาศเหมาะต่อการระบาดของโรคไหม้ข้าว ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบการอาการของโรคไหม้ ใบข้าวมีแผล จุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตา มีสีเทาอยู่ตรงกลางแผลให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัดเพื่อดำเนินการควบคุม และหาทางป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Magnaporthe oryzae
Synonyms : Pyricularia oryzae Cavara
ลักษณะอาการ
ระยะกล้า ใบมีแผล จุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตา มีสีเทาอยู่ตรงกลางแผล ความกว้างของแผลประมาณ ๒ - ๕ มิลลิเมตร และความยาวประมาณ ๑๐ - ๑๕ มิลลิเมตร แผลสามารถขยายลุกลามและกระจายทั่วบริเวณใบ ถ้าโรครุนแรงกล้าข้าวจะแห้งฟุบตาย อาการคล้ายถูกไฟไหม้
ระยะแตกกอ อาการพบได้ที่ใบ ข้อต่อของใบ และข้อต่อของลำต้น ขนาดแผลจะใหญ่กว่าที่พบในระยะกล้า แผลลุกลามติดต่อกันได้ที่บริเวณข้อต่อ ใบจะมีลักษณะแผลช้ำสีน้ำตาลดำ และมักหลุดจากกาบใบเสมอ
ระยะออกรวง (โรคไหม้คอรวง) ถ้าข้าวเพิ่งจะเริ่มให้รวง เมื่อถูกเชื้อราเข้าทำลาย เมล็ดจะลีบหมด แต่ถ้าเป็นโรคตอนรวงข้าวแก่ใกล้เก็บเกี่ยว จะปรากฏรอยแผลช้ำสีน้ำตาลที่บริเวณคอรวง ทำให้เปราะหักง่าย รวงข้าวร่วงหล่นเสียหายมาก
การแพร่ระบาด พบโรคในแปลงที่ต้นข้าวหนาแน่น ทำให้อับลม ถ้าใส่ปุ๋ยอัตราสูงและมีสภาพอากาศแห้งในตอนกลางวันและชื้นจัดในตอนกลางคืน ลมแรงจะแพร่กระจายโรคได้ดี
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. สำรวจแปลงนา อย่างสม่ำเสมอถ้าพบอาการของโรคไหม้ข้าวควรปฏิบัติ ดังนี้
- พ่นเชื้อบีเอส (บาซิลลัส ซับทีลิส) อัตราตามคำแนะนำในฉลาก
- พ่นเชื้อไตรโครเดอร์มาอัตรา ๑ กิโลกรัมต่อน้ำ ๒๐๐ ลิตร
๒. ถ้ามีความจำเป็นให้ใช้สารเคมีพ่นเฉพาะบริเวณที่พบการระบาดเพื่อควบคุมไม่ให้เชื้อราแพร่กระจายขยายเป็นวงกว้างออกไป สารเคมีที่แนะนำมี ดังนี้
- อิดิเฟนฟอส ๕๐ เปอร์เซ็นต์ อีซี อัตรา ๒๐ - ๒๕ ซีซี ผสมน้ำ ๒๐ ลิตร
- บลาสติซิดิน - เอส ๒ เปอร์เซ็นต์ อีซี อัตรา ๒๐ - ๒๕ ซีซี ผสมน้ำ ๒๐ ลิตร
- ไตรไซคราโซล ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี อัตรา ๑๐ - ๑๖ กรัม ผสมน้ำ ๒๐ ลิตร
ควรพ่นในแปลงข้าวที่มีประวัติว่าเคยมีโรคระบาดมาก่อน การใช้สารเคมีพ่นซ้ำกันหลายครั้ง เชื้อราจะต้านทานสารเคมีหรือดื้อยา ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อราต้านทานสารเคมี จึงควรเลือกใช้สารเคมีบางชนิดพ่นสลับกัน ทั้งนี้ในการใช้สารเคมีควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และคำนึงถึงความปลอดภัยต่อตัวผู้ใช้และสภาพแวดล้อม
ในฤดูถัดไป
๑. ใช้พันธุ์ต้านทานต่อโรคไหม้ ได้แก่ กข๙ กข๑๑ กข๒๑ สุพรรณบุรี๑ สุพรรณบุรี๖๐ สุพรรณบุรี๙๐ และคลองหลวง๑
๒. ใช้เชื้อไตรโครเดอร์มาที่เจริญบนเมล็ดธัญพืชขยำเอาสปอร์ออกคลุกเมล็ดพันธุ์ข้าวนำไปแช่บ่มเตรียมปลูก อัตรา ๑ กิโลกรัม ต่อน้ำ ๒๐๐ ลิตร ต่อเมล็ดข้าว ๕๐๐ กิโลกรัม หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไตรไซคลาโซล คาซูกาไมซิน คาร์เบนดาซิม โพรคลอราซ อัตราตามคำแนะนำในฉลาก
๓. หว่านเมล็ดพันธุ์ในอัตราที่เหมาะสม ๑๕ – ๒๐ กิโลกรัมต่อไร่ ควรแบ่งแปลงให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดี
๔. ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนลง วิธีนี้อาจมีผลกระทบต่อผลผลิตบ้างแต่จะช่วยไม่ให้ข้าว อ่อนแอต่อโรค
ที่มา : ๑. กรมการข้าว
๒. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ที่ปรึกษา : นางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
นางสาวสุมนา สิมาสฤษฏ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช
เรียบเรียงโดย : นางสาวเบญจมาภรณ์ ชุ่มจิตร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 25/04/2561