ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๔๓ ประจำวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๑
โรคเหี่ยวหรือแง่งขิงเน่า (bacterial wilt or rhizome rot of ginger)
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกขิงเฝ้าระวังการระบาดของโรคเหี่ยวกับแง่งขิงเน่า ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงนี้มีฝนตกชุก ซึ่งเหมาะสมต่อการแพร่ระบาด การเข้าทำลายพืช โดยที่เชื้อสาเหตุจะติดไปกับแง่งขิงหรือหน่อที่ใช้ทำพันธุ์ได้หากได้มาจากต้นหรือแหล่งที่มีโรคเกิดมาก่อน โรคเหี่ยวหรือแง่งเน่าของขิงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียจัดว่าเป็นโรคสำคัญและสร้างความเสียหายให้กับการปลูกขิงในปัจจุบันมากที่สุด พบได้ทุกแห่งที่มีการปลูกขิง หากจะเทียบกับโรคอื่นแล้วโรคนี้ทำลายขิงสูงถึง ๔๐% ของโรคทั้งหมด ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อสำรวจพบอาการของโรคให้รีบเตรียมการป้องกัน หรือขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อหาทางควบคุมป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
เชื้อสาเหตุ : เชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas solanacearum
ลักษณะอาการ
อาการในระยะเริ่มแรกหลังจากถูกเชื้อเข้าทำลาย ใบที่อยู่ตอนล่าง ๆ จะเหี่ยว ตกลู่ลง ต่อมาจะม้วนเป็นหลอดและเหลือง อาการจะค่อย ๆ ลุกลามจากส่วนล่างขึ้นไปยังส่วนบน ในที่สุดใบจะม้วนและเหลืองแห้งทั้งต้น บริเวณโคนต้นและหน่อที่แตกออกมาใหม่จะมีลักษณะช้ำฉ่ำน้ำ ซึ่งต่อมาจะเน่าเปื่อยหักหลุดออกมาจากแง่งโดยง่าย แต่จะไม่มีกลิ่นเหม็น เมื่อตรวจดูที่ลำต้นจะพบว่าส่วนที่เป็นท่อน้ำท่ออาหารจะถูกทำลายเป็นสีคล้ำหรือน้ำตาลเข้ม และมีเมือกของแบคทีเรียเป็นของเหลวสีขาวข้นคล้ายน้ำนมซึมออกมาตรงรอยแผลหรือรอยตัดของต้นหรือแง่งขิงที่เป็นโรค สำหรับแง่งจากต้นที่เพิ่งแสดงอาการโรคในระยะแรก หากนำขึ้นมาผ่าดู จะพบรอยช้ำฉ่ำน้ำเป็นปื้น ๆ โดยเฉพาะแง่งที่ยังอ่อน ต่อมาอาการจะทวีความรุนแรงทำให้เนื้อเยื่อเปื่อยยุ่ยและสีคล้ำขึ้น อาการเหล่านี้จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในสภาพที่อากาศชื้นและร้อน ตั้งแต่เริ่มแสดงอาการจนทำให้ต้นหักพับตาย จะใช้เวลา ๕ - ๗ วัน เป็นอย่างช้า
การแพร่ระบาด
โรคนี้มักระบาดมากในฤดูฝน เชื้อสามารถติดไปกับแง่งขิง หรือหน่อที่ใช้ทำพันธุ์
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. สำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
๒. ควรใช้เชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis แช่แง่งขิงก่อนนำไปปลูกเป็นเวลาประมาณ ๒๐ นาที อัตราที่ใช้ ๑๐๐ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
๓. แช่แง่งขิงด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อแบคทีเรียก่อน อัตราตามคำแนะนำ
๔. เลือกใช้แง่งขิงหรือท่อนพันธุ์ขิงที่สะอาดปราศจากเชื้อ หรือจากแหล่งที่ไม่เป็นโรค
๕. ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ๑ - ๒ ตันต่อไร่ และใส่ปูนขาวปรับปรุงดินให้เป็นกลางก่อนปลูกด้วย หรือปลูกถั่วเขียวก่อน แล้วไถกลบให้เป็นปุ๋ยพืชสดแก่ขิง และเพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ดินให้มีมากกว่าเชื้อโรค เพื่อที่จะทำให้เชื้อโรคหมดไป
๖. ไม่ควรใช้สารเคมี เพราะไม่คุ้มและสิ้นเปลืองเงินโดยเปล่าประโยชน์
ที่มา : สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร
ที่ปรึกษา : นางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
นางสาวสุมนา สิมาสฤษฏ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช
เรียบเรียงโดย : นางสาวเบญจมาภรณ์ ชุ่มจิตร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 22/05/2561