ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๗๑ ประจำวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๐
โรคโคนเน่าพืชผัก (Damping-off Disease)
เตือนเกษตรกรที่ปลูกพืชผักทุกชนิด ระวังโรคโคนเน่า หรือเน่าคอดิน เน่าระดับดิน ที่มักพบในพืชผักระยะกล้าของประเทศไทยในทุกแหล่งปลูก โดยเข้าทำลายบริเวณโคนต้น ราก รวมถึงเมล็ดที่กำลังงอกในพืชอวบน้ำ ซึ่งในช่วงนี้สภาพอากาศร้อนชื้นและมีฝนตกชุกเหมาะสมสำหรับเชื้อราสาเหตุโรค ซึ่งเกิดจากเชื้อราได้หลายชนิด ความรุนแรงขึ้นอยู่กับความชื้นของดิน ชนิดพันธุ์พืช และปริมาณเชื้อที่สะสมพักตัวข้ามฤดูในดิน หากแพร่ระบาดและทำความเสียหายรุนแรง ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเริ่มพบอาการเมล็ดไม่งอก หรืองอกมีต้นอ่อนสีน้ำตาลหงิกงอ โคนต้นยุบ ต้นกล้าล้ม ให้เตรียมการป้องกัน หรือขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อหาแนวทางควบคุมป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Pythium spp., Phytophthora spp., Rhizoctonia solani, Fusarium sp., Botrytis cinerea, Diplodia pinea, Sclerotium bataticola เป็นต้น
ลักษณะอาการ
อาการทั่วไปในแปลงจะพบว่า ต้นกล้าฟุบตายเป็นหย่อม ๆ เมื่อนำกล้ามาพิจารณาดูที่ต้นจะเห็นว่า บริเวณโคนต้นจะมีลักษณะแผลช้ำ เหี่ยวแฟบ คอเป็นสีน้ำตาลดำและเน่า เป็นเหตุทำให้ต้นกล้าหักพับลง ซึ่งอาการโรคโคนเน่า แบ่งออกเป็น ๒ ระยะ คือ
๑. ระยะก่อนงอกพ้นดิน (Pre – emergence damping – off) ราเข้าทำลายเมล็ดหรือต้นกล้าก่อนที่จะงอกพ้นดิน ทำให้เมล็ดไม่งอกหรือรากต้นอ่อนถูกทำลายทันที ทำให้ไม่มีใบเลี้ยงออกมา
๒. ระยะต้นกล้า (Post - emergence damping – off) ต้นกล้าเป็นโรคเมื่อโผล่พ้นดินแล้ว ถ้าเข้าทำลายส่วนล่างหรือส่วนราก โดยราจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในเนื้อเยื่อพืชโดยเฉพาะราก ทำให้ต้นกล้าเหี่ยวทั้งต้นและหักล้มก่อนจะแสดงอาการเหี่ยว โดยส่วนติดผิวดินจะเน่าในขณะที่ส่วนอื่นยังเต่งอยู่ แต่ถ้าเชื้อราเข้าทำลายส่วนบนหรือส่วนใบเลี้ยงจะเรียกว่า top - infection type หรือ top – damping – off จะพบเมื่อต้นกล้าอยู่กันอย่างหนาแน่นภายหลังจากระยะที่มีฝนตก
การแพร่ระบาด
ติดมากับเมล็ด ดินและวัสดุปลูก น้ำที่ใช้รด ถาดที่ใช้เพาะกล้า สภาพแวดล้อมที่ทำให้เชื้อรานี้ระบาดได้ง่ายคือ เมื่อมีอากาศร้อนและมีความชื้นสูง ดินหรือวัสดุเพาะระบายน้ำไม่ดี และมีสภาพเป็นกรดมากเกินไป
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. กำจัดเชื้อราที่อยู่ดิน โดยใช้ความร้อน ๑๒๑ องศาเซลเซียส ที่ความดัน ๑๕ lb/ตารางนิ้ว เป็นเวลา ๓ ชั่วโมง หรือใช้ methyl bromide ถ้าเป็นดินไร่ใช้ยา Vapam หรือ Vorlex ในเรือนเพาะชำใช้ copper sulfate solution
๒. คลุกเมล็ดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา ช่วยป้องกันใบเลี้ยงและรากต้นอ่อนที่งอกมาให้มีความต้านทานต่อเชื้อราที่นิยมใช้คือ captan, dichlone และ thiram
๓. ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา พ่นต้นกล้าในระยะที่ปลูกใหม่ เช่น ziram, chloranil, captan,soluble coppers ถ้าดินมีเชื้อมากและมีความชื้นสูง
๔. ปรับสภาพแวดล้อมเพื่อลดความรุนแรงของเชื้อโรคโดย
๔.๑ เพาะเมล็ดในระดับตื้น ลึกจากผิวดิน ๑/๔ นิ้ว งดให้น้ำตอนเช้าเพื่อให้การระเหยน้ำเร็วขึ้น จัดการระบายน้ำในแปลงเพาะให้ดี
๔.๒ กำหนดความหนาแน่นของกล้าในแปลงเพาะให้เหมาะสม
๔.๓ กำจัดวัชพืชในแปลงเพาะ
๔.๔ ไม่ควรให้ร่มเงามากเกิน ๕๐ เปอร์เซ็นต์
๔.๕ ใช้ปุ๋ยที่มีระดับของไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม สมดุลเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้แก่ลำต้น โดยอัตราที่เหมาะสมคือ nitrogen : phosphorus : potassium = ๑: ๒: ๑
๔.๖ ใช้ดินที่เป็นกรดในการเพาะ
๕. ใช้ชีววิธี โดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ซึ่งเป็นศัตรูของราที่ทำให้เกิดโรคเน่าคอดิน โดยทำการคลุกกับเมล็ดหรือดิน หรือแช่เมล็ดและกิ่งพันธุ์ในอัตรา ๒๐๐ ซีซีต่อน้ำ ๒๐ ลิตร เป็นเวลา
๒ - ๑๐ ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความหนา บางของเยื่อพืชแต่ละชนิด จะป้องกันการเกิดโรคได้ผลดี หลังเพาะชำ พ่นในอัตรา ๑๐๐ ซีซีต่อน้ำ ๒๐ ลิตร และพ่นหลังปลูกให้ทั่วใบ กิ่งก้าน และโคนทุก ๑๐ วันเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพืช
ที่มา : ๑. Januaris Saint Fores. ๒๐๑๗. ๑๗ Common Diseases of Leafy Vegetables
(with Photos): Prevention and Treatment, Dengraden
๒. Michelle Grabowski. ๒๐๑๗. Seed rot and damping-off. University of Minnesota.
๓. http://www.kasetkawna.com/
เรียบเรียงโดย : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 13/07/2560