ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๖๕ ประจำวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑
โรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน
เตือนเกษตรกรชาวสวนทุเรียนในทุกแหล่งปลูกของประเทศไทย จากข้อมูลแปลงติดตามสถานการณ์ศัตรูไม้ผล เริ่มพบการเข้าทำลายของโรครากเน่าโคนเน่าในหลายพื้นที่ และด้วยสภาพอากาศในช่วงฤดูฝนตลอดช่วงมีความชื้นสูง ดินชื้นและแฉะตลอดเวลา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการทำลายของโรครากเน่าโคนเน่าซึ่งมีเชื้อราเป็นสาเหตุ ดังนั้น ขอให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนสำรวจสวนอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการของโรคให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด
เพื่อกำหนดแนวทางการควบคุม และดำเนินการป้องกันกำจัดทันที ก่อนทุเรียนทรุดโทรมและตายในที่สุด
เชื้อสาเหตุ : เชื้อรา Phytophthora palmivora
ลักษณะอาการ
เชื้อราสาเหตุสามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของต้น ได้แก่ ใบ กิ่ง ลำต้น ดอก ผล และระบบราก อีกทั้งราจะอาศัยอยู่ในดินด้วย อาการส่วนบนของต้นทุเรียนที่เป็นโรคใบปลายกิ่งสีซีด เหี่ยวลู่ลงใบด้านสลด และไม่เป็นมัน ใบเริ่มมีสีเหลืองและร่วง เมื่อขุดดูที่รากฝอยจะเปื่อยยุ่ย มีสีน้ำตาล และหลุดง่าย หากเป็นรุนแรงจะเน่าลามไปยังรากแขนงและโคนต้น ทำให้ต้นโทรมและยืนต้นตาย บริเวณกิ่ง ลำต้น โคนต้นเน่า เริ่มแรกใบเหลืองบางกิ่ง จะเห็นคล้ายคราบน้ำบนผิวเปลือก ช่วงอากาศแห้งถ้าใช้มีดถากบริเวณคราบน้ำจะพบเนื้อเยื่อเปลือกและเนื้อไม้เป็นแผลสีน้ำตาล และแผลลุกลามขยายใหญ่จนรอบโคนต้น ทำให้ใบร่วงจนหมดต้นและยืนต้นแห้งตาย ใบเน่า ใบจะช้ำดำตายนึ่งคล้ายถูกน้ำร้อนลวก และใบไหม้แห้งคาต้นอย่างรวดเร็ว
การแพร่กระจาย
เชื้อราสาเหตุโรคถูกชะล้างโดยน้ำฝนและไหลตามกระแสน้ำ หรือเชื้อราถูกพัดพาโดยกระแสลม หรือเชื้อราอาจติดไปกับดิน น้ำ ซากหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพืชที่เป็นโรค จะพบมากในช่วงฝนตกรุนแรงต่อเนื่องหลายวัน
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. สำรวจสวนผลไม้อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
๒. บำรุงต้นให้สมบูรณ์แข็งแรง
๓. ปรับปรุงสภาพดิน โดยใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ทำร่องระบายน้ำในสวนที่เป็นพื้นที่ต่ำ เพื่อป้องกันน้ำขังภายในสวน
๔. ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าหว่านในพื้นที่รัศมีทรงพุ่มที่มีรากฝอยอยู่ หรือใช้รองก้นหลุมก่อนปลูก
หากพบอาการของโรคในเบื้องต้น
๕. ตัดแต่งกิ่ง หรือลำต้นที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก
๖. ฉีดด้วยสารฟอสโฟนิก แอซิด ๔๐% เอสแอล ผสมน้ำสะอาด อัตรา ๑ : ๑ ใส่กระบอกฉีดยา ฉีดเข้าลำต้นหรือกิ่งในบริเวณตรงข้ามอาการของโรค หรือส่วนที่เป็นเนื้อไม้ดีใกล้บริเวณที่เป็นโรค อัตรา ๒๐ มิลลิลิตร ต่อต้น ทุก ๓๐ วัน
๗. พ่นให้ทั่วทรงพุ่มด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม ๘๐% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๓๐ - ๕๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร พ่นทุก ๗ วัน ใช้สลับกับสารเมทาแลกซิล ๒๕% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๓๐ - ๕๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
กรณีโรคเข้าทำลายไม่รุนแรง
๘. ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าหว่านส่วนผสมเชื้อสดให้ทั่วบริเวณใต้ทรงพุ่มจนถึงรอบชายพุ่ม อัตรา ๕๐ - ๑๐๐ กรัมต่อตารางเมตร
๙. ใช้เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทีลิส ฉีดเข้าในโคนต้นทุเรียนอัตรา ๒๐ มิลลิลิตร ต่อน้ำ ๒๐ มิลลิลิตร ต้นละ ๓ จุด ๑ ครั้ง
๑๐. จากนั้นลอกเปลือกต้นทุเรียนบริเวณที่เป็นโรคออกแล้วทาด้วยผงเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทีลิส อัตรา ๑ กิโลกรัม ต่อน้ำ ๑ ลิตร โดยจะต้องผสมสารจับใบ อัตรา ๕ ซีซี ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร และราดดินบริเวณโคนต้นด้วยผงเชื้อ อัตรา ๒๐๐ กรัม ต่อน้ำ ๒ ลิตร ต่อต้น โดยลอกเปลือกและราดดินซ้ำ รวม ๔ ครั้ง
กรณีโรคเข้าทำลายรุนแรง
๑๑. ให้ขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออกแล้วทาด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ทุก ๗ วัน จนกว่าแผลจะแห้ง ดังนี้
- ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม ๘๐% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๘๐ - ๑๐๐ กรัมต่อน้ำ ๑ ลิตร หรือ
- สารเมทาแลกซิล ๒๕% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๕๐ - ๖๐ กรัม ต่อน้ำ ๑ ลิตร หรือ
- สารเมทาแลกซิล+แมนโคเซบ ๖๕% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๑๐๐ กรัม ต่อน้ำ ๑ ลิตร
๑๒. หากพบใบเหลืองทั้งต้น ให้ราดดินด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ดังนี้
- ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม ๘๐% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๓๐ - ๕๐ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ
- สารเมทาแลกซิล ๒๕% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๓๐ - ๕๐ กรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร โดยร่วมกับการใช้ฟอสโฟนิก แอซิด ๔๐% เอสแอล ผสมน้ำสะอาด อัตรา ๑ : ๑ ใส่กระบอกฉีดยาแล้วฉีดเข้าลำต้น
๑๓. ถ้าพบกิ่งแห้งที่มีรอยเจาะทำลายของมอด ให้ตัดไปเผาไฟทิ้ง
ที่มา : ๑. กรมวิชาการเกษตร
๒. สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร
๓. https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_35761
ที่ปรึกษา : นางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
นางสาวสุมนา สิมาสฤษฏ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช
เรียบเรียงโดย : นางสาวเบญจมาภรณ์ ชุ่มจิตร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 23/07/2561