ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๘๓ ประจำวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๑
โรคพุ่มไม้กวาด (Witches’ broom)
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จากข้อมูลแปลงสำรวจติดตามสถานการณ์ศัตรูลำไย เริ่มพบการเกิดโรคพุ่มไม้กวาดหรือโรคพุ่มแจ้ของลำไยในหลายจังหวัด โดยโรคนี้มีไรลำไยเป็นแมลงพาหะนำโรค โดยเฉพาะผู้ที่ปลูกลำไยพันธุ์เบี้ยวเขียวก้านอ่อนซึ่งเป็นพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคนี้ ดังนั้น ขอให้เกษตรกรหมั่นสำรวจสวนลำไยอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการใบที่ยอดม้วนบิดเป็นเกลียว หรือพบไรลำไย ให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด ดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
เชื้อสาเหตุ : ไฟโตพลาสมา (Phytoplasma)
ชื่อสามัญอื่น : โรคพุ่มแจ้
แมลงพาหะ : ไรลำไย Aceria dimocarpi (Kuang)
ลักษณะอาการ
โรคพุ่มไม้กวาดนี้มีไรลำไยเป็นพาหะนำโรค โดยเริ่มแรกส่วนที่เป็นตาเกิดอาการใบยอดแตกฝอยมีลักษณะเหมือนพุ่มไม้กวาด ใบมีขนาดเล็กเรียวยาวม้วนบิดเป็นเกลียวมีขนละเอียดปกคลุมแข็งกระด้างไม่คลี่ออกกลายเป็นกระจุกสั้น ๆ ขึ้นตามส่วนยอด ถ้าเป็นช่อดอกจะแตกเป็นพุ่มฝอย ดอกแห้งไม่ติดผล ถ้าไม่รุนแรงก็จะออกช่อชนิดติดใบปนดอก และช่อสั้น ๆ ซึ่งอาจติดผลได้น้อยถ้าเป็นโรครุนแรงดอกลำไยที่เกิดขึ้นจะแตกกิ่งเป็นฝอยมีใบชนิดไม่คลี่อยู่มาก ลำไยที่เป็นโรครุนแรงต้นจะโทรม ออกดอกติดผลน้อย
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. สำรวจสวนลำไยอย่างสม่ำเสมอ
๒. สำรวจแมลงพาหะหากพบให้รีบป้องกันกำจัดทันที
๓. เมื่อผลิใบใหม่พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดไร เช่น กำมะถันผงชนิดละลายน้ำ
๔. หากพบต้นลำไยที่เป็นโรคให้ตัดกิ่งลำไยที่เป็นโรคออก แล้วเผาทำลายในทันที
๕. พ่นสารป้องกันกำจัดไรตามความจำเป็น
๖. กิ่งพันธุ์ปลูกควรเป็นกิ่งพันธุ์ที่มาจากต้นแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ ไม่เป็นโรค
ที่มา : ๑. สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ ๖ จังหวัดเชียงใหม่
๒. กรมวิชาการเกษตร
ที่ปรึกษา : นางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
นางสาวสุมนา สิมาสฤษฏ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช
เรียบเรียงโดย : นางสาวเบญจมาภรณ์ ชุ่มจิตร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
Update Date : บันทึกเมื่อ : 04/09/2561