อยากเลี้ยงจิ้งหรีด มีสิ่งที่จะต้องรู้ก่อนเลี้ยงจิ้งหรีดมีอะไรบ้าง« Back to Questions List

Posted by esc2560Admin
Asked on มีนาคม 23, 2023 8:49 pm

จิ้งหรีด จัดเป็นแมลงเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่พบได้ในทุกภูมิภาคของโลก คนนิยมบริโภคจิ้งหรีดเป็นอาหาร เพราะมีโปรตีนสูง ปลอดสารพิษ ถือเป็น Future Food ที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศต้องการ

กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มองเห็นศักยภาพของจิ้งหรีดว่าสามารถสร้างอาชีพลำรายได้ให้แก่เกษตรกร จึงได้เริ่มดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดในรูปแบบฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 โดยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการด้านชีววิทยาและการจัดการการเลี้ยงจิ้งหรีดจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (ผึ้ง) จังหวัดขอนแก่น (ชื่อของศูนย์ในขณะนั้น) ได้ดำเนินการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงในระบบฟาร์มและส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้กระจายไปยังเกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ
การเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นที่นิยมของเกษตรกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย ไม่ต้องการน้ำมาก และไม่ต้องใช้แรงงานนอกครัวเรือน เด็กและผู้สูงอายุสามารถเลี้ยงจิ้งหรีดได้ จึงเป็นอาชีพที่เสริมสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนเกษตรกร จนกลายเป็นอาชีพหลักของเกษตรกร ในปัจจุบันจิ้งหรีดเป็นสินค้าที่มีมาตรฐาน GAP ฟาร์มจิ้งหรีด เพื่อสร้างการยอมรับให้กับผู้บริโภคและสร้างความเชื่อมั่นแก่ตลาดทั้งใน-ต่างประเทศ ว่าจิ้งหรีดจากประเทศไทยมีคุณภาพ และตอบรับกระแสของโลกที่ต้องการหาอาหารโปรตีนทางเลือกใหม่ และความมั่นคงทางอาหารที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ประโยชน์ของการเลี้ยงจิ้งหรีด

- เป็นอาหารโปรตีนทางเลือกใหม่ (Novel Food) ที่กำลังเป็นที่สนใจของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
- เป็นโอกาสของประเทศไทยที่มีภูมิอากาศเหมาะสมต่อการเลี้ยงจิ้งหรีด
- เป็นอาชีพที่สามารถทำได้ทุกช่วงอายุ เช่น เยาวชน ผู้สูงอายุ
- สามารถจำหน่ายผลผลิตจิ้งหรีดได้ในตลาดท้องถิ่น และโรงงานแปรรูป)
- ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ผงโปรตีนจิ้งหรีด คุกกี้ พาสต้า โปรตีนบาร์ เป็นต้น
- ใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ Exotic เช่น กระรอกบิน แฮมสเตอร์ ตุ๊กแกลายเสือดาว เป็นต้น
- เป็นอาชีพการเกษตรอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้และความมั่นคงให้แก่เกษตรกร

สายพันธุ์จิ้งหรีดที่พบในประเทศไทย
- จิ้งหรีดทองดำ ลำตัวกว้างประมาณ 0.70 ซม. ยาวประมาณ 3 ซม. ที่พบตามธรรมชาติมี 3 สี คือสีดำ สีทอง สีอำพัน โดยลักษณะที่เด่นชัดคือ จะมีจุดเหลืองที่โคนปีก 2 จุด
- จิ้งหรีดทองแดง ลำตัวกว้างประมาณ 0.60 ซม. ยาวประมาณ 3 ซม. มีลำตัวสีน้ำตาล เพศผู้มีสีเข้มกว่าเพศเมีย ส่วนหัวเหนือขอบตารวมด้านบน แต่ละด้านมีแถบสีเหลือง มองดูคล้ายหมวกแก็ป มีความว่องไวมาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกจิ้งหรีดนี้เป็นภาษาท้องถิ่นว่า จินาย อิเจ๊ก จิ้งหรีดม้า เป็นต้น
- จิ้งหรีดเล็ก มีขนาดเล็กที่สุดสีน้ำตาล บางท้องที่เรียกว่า จิลอ จิ้งหรีดผี หรือแอ้ด เป็นต้น ลักษณะคล้ายจิ้งหรีดพันธุ์ทองแดง แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยมีขนาดประมารหนึ่งในสามของจิ้งหรีดพันธุ์ทองแดง
- จิ้งโกร่ง เป็นจิ้งหรีดขนาดใหญ่ สีน้ำตาล ลำตัวกว้างประมาณ 1 ซ.ม. ยาวประมาณ 3.50 ซ.ม. ชอบอยู่ในรูลึก โดยจะขุดดินสร้างรังอาศัยได้เอง และมีพฤติกรรมชอบอพยพย้ายที่อยู่เสมอ มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น จิโปม จิ้งกุ่ง เป็นต้น
- จิ้งหรีดทองแดงลาย หรือ สะดิ้ง มี 2 ชนิดคือ ชนิดที่ปีกครึ่งตัว และชนิดที่มีปีกยาวเหมือนจิ้งหรีดทั่วไป ตัวเต็มวัยสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวกว้างประมาณ 0.53 ซ.ม. ยาวประมาณ 2.05 ซม. ตัวเต็มวัยเหมือนพันธุ์ทองแดงแต่เล็กกว่าประมาณครึ่งหนึ่ง

การเลือกพันธุ์จิ้งหรีด
- เลือกพันธุ์จิ้งหรีด มีคุณภาพดี แข็งแรง และไม่มีประวัติของการเกิดโรค
- ควรมีการเปลี่ยนสายพันธุ์จิ้งหรีด เพื่อให้จิ้งหรีดมีความแข็งแรงและป้องกันเลือดชิดในจิ้งหรีด โดยคัดพ่อแม่พันธุ์ข้ามบ่อหรือกล่องเลี้ยง หาพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติมาขยายพันธุ์ หรือซื้อพันธุ์จิ้งหรีดที่มีความแข็งแรงและปลอดโรคจากฟาร์มอื่น

องค์ประกอบของการเลี้ยงจิ้งหรีดโดยทั่วไป
- สถานที่เลี้ยงต้องป้องกันแสงแดดและฝนได้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ควรเป็นที่ดอน น้ำไม่ท่วมชัง ไม่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน
- ถ้าเป็นโรงเรือน ต้องแข็งแรง ทนทาน มีหลังคาป้องกันแดดและฝน ระบายอากาศได้ดีและสามารถป้องกันศัตรูจิ้งหรีด มีรั้วรอบ ป้องกันสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ และบุคคลภายนอกเข้าโรงเรือน
- ถ้าเป็นบ่อหรือกล่องเลี้ยงจิ้งหรีด ต้องมีความคงทน ทนต่อการกัดแทะของจิ้งหรีด และทำความสะอาดได้ง่าย เช่น บ่อปูน กล่องสมาร์ทบอร์ด หรือกล่องพลาสติก
- ใช้ตาข่ายไนล่อนสีเขียว ปิดปากบ่อจิ้งหรีด ป้องกันการบินหนีของจิ้งหรีดและป้องกันศัตรูเข้าทำลายจิ้งหรีด ตัดให้มีขนาดใหญ่กว่าบ่อจิ้งหรีดเล็กน้อย
- มีที่หลบซ่อนและที่อยู่อาศัยของจิ้งหรืด ซึ่งอยู่ในสภาพดี สะอาดไม่เปียกขึ้น เช่น ถาดไข่ชนิดที่เป็นกระดาษ เป็นต้น
- ภาชนะให้อาหาร ควรเป็นภาชนะที่ไม่ลึกมาก เพื่อให้จิ้งหรีดได้ขึ้นกินอาหารได้สะดวก เช่น ถาดไม้ ถาดพลาสติก เป็นต้น
- ภาชนะให้น้ำ เช่น ถาด ขวดพลาสติก และท่อพีวีซี เป็นต้น หรือใช้ที่ให้น้ำสำหรับไก่เล็ก และต้องมีหินวางไว้สำหรับให้จิ้งหรีดเกาะ ป้องกันจิ้งหรีดตกน้ำ
- ถาดไข่หรือถาดสำหรับใช้เป็นที่วางไข่ ใช้ขันอาบน้ำทั่ว ๆ ไป วัสดุที่ใส่ใช้ขี้เถ้าแกลบดำ หรือขุยมะพร้าว รดน้ำให้ชุ่ม

อาหารและน้ำของจิ้งหรีด
1. อาหาร
- อาหารหลัก ได้แก่ อาหารจิ้งหรีดสำเร็จรูป มีธาตุอาหารที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของจิ้งหรีดควรเป็นอาหารใหม่ ไม่เสื่อมคุณคาพ และไม่มีสารปนเปื้อน หรือ อาหารไก่ผสมกับแกลบอ่อน อัตรา 1:1 เมื่อจิ้งหรีดอายุ 40-50 วัน พร้อมที่จะนำมาบริโภคและจำหน่ายต่อไป
- อาหารเสริม ในการเลี้ยงจิ้งหรีด ได้แก่ ฟักทอง และกล้วยสุก เป็นต้น
2. การให้น้ำ ต้องเป็นน้ำสะอาด ควรมีภาชนะเก็บน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการของจิ้งหรีด หมั่นดูขวดที่ใส่น้ำถ้าแห้งให้เติมใหม่ ถ้าสกปรกให้ล้างออก ถ้าจิ้งหรีดยังตัวเล็กๆ ให้ใช้ต้นกล้วยดิบตัดเป็นท่อน ๆ แตงชนิดต่างๆ เช่น แตงกวา แตงโม น้ำเต้า ให้จิ้งหรีดดูดกินน้ำ

โรคและศัตรูของจิ้งหรีด มีอะไรบ้าง
จิ้งหรีดเป็นแมลงที่ไม่ค่อยมีโรคและศัตรูมารบกวนมากนัก แต่ก็ควรป้องกันไว้ก่อนดีกว่าการกำจัด ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อจิ้งหรีดและผู้บริโภค โรคและศัตรูของจิ้งหรีดที่มักพบ มีดังนี้
- โรคทางเดินอาหาร ซึ่งเกิดจากจิ้งหรีดได้รับอาหารที่ไม่สะอาด เกิดเชื้อรา วิธีป้องกัน คือ การให้อาหารที่มีจำนวนพอเหมาะกับจำนวนจิ้งหรีด เมื่อเก็บผลผลิตหมดแล้วควรทำความสะอาดบ่อ ก่อนนำจิ้งหรีดรุ่นใหม่มาเลี้ยง วัสดุอุปกรณ์การเลี้ยงต้องล้างฆ่าเชื้อทุกชนิด โดยฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทิ้งไว้อย่างน้อย 30 วัน แผงกระดาษที่อยู่อาศัยให้เผาทิ้ง ตัวจิ้งหรีดให้เผาทำลาย
- สัตว์ศัตรู เช่น มด จิ้งจก ไร แมงมุม ป้องกันโดยใช้ตาข่ายคลุมให้มิดชิด

เสียงของจิ้งหรีด บ่งบอกอะไร
1. กริก…….กริก….กริก…นานๆ อยู่โดดเดี่ยว ต้องการหาคู่หรือหลงบ้าน บางครั้งพเนจรร้องไปเรื่อย ๆ
2. กริก…กริก..กริก…เบา ๆ และถี่ ติดต่อกัน ต้องการผสมพันธุ์ ตัวผู้จะถอยหลังเข้าหา ตัวเมียเพื่อขึ้นคร่อมรับการผสมพันธุ์
3. กริก…กริก…กริก…ยาวดัง ๆ 2-3 ครั้ง โกรธ หรือแย่งความเป็นเจ้าของ
4. กริก….กริก…กริก…ลากเสียงยาวๆ ประกาศอาณาเขต หาที่อยู่ได้แล้ว

การจัดการบ่อจิ้งหรีดเมื่อจับจิ้งหรีดแล้ว
- ทำความสะอาดบ่อเลี้ยงโดยการเก็บวัสดุรองพื้นบ่อออกให้หมด ตากบ่อเลี้ยงก่อนเลี้ยงรุ่นใหม่ทุกครั้ง
- ขวดน้ำ ถาดอาหาร ถาดไข่ ที่หลบภัย ทำความสะอาด ตากให้แห้ง สามารถนำมาใช้ได้อีก
- แผงไข่ ควรเคาะทำความสะอาด แล้วนำไปอบหรือตากแดดให้แห้ง เป็นการฆ่าเชื้อโรคที่สะสมในแผงไข่ แล้วค่อยนำมาใช้เลี้ยงในรุ่นต่อไป

แหล่งองค์ความรู้ หรือแหล่งดูงานเกี่ยวกับการเลี้ยงจิ้งหรีด
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่
- กลุ่มส่งเสริมแมลงเศรษฐกิจ (ส่วนกลาง) กรมส่งเสริมการเกษตร โทร. 02-9406102
- ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 052-001152
- ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดชุมพร โทร. 077-658669
- ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดจันทบุรี โทร. 039389244
- ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดขอนแก่น โทร. 043-009958
- ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดอุตรดิตถ์ โทร. 055-817714

Posted by ศูนย์วิทยบริการเพื่อส่งเสริมการเกษตร
Answered On มีนาคม 23, 2023 4:53 pm