นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการระบายน้ำออกจากพื้นที่พรุ การขาดแคลนน้ำสำหรับการเพาะปลูก การอุปโภค บริโภคของราษฎรจังหวัดปัตตานี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชหฤทัยมั่นที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด พระบรมราชปณิธานและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้น้อมนำแนวทางพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” และ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการฯ บนฐานความต้องการของชุมชนและศักยภาพของพื้นที่เป็นสำคัญ เป็นการลดและบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ เสริมสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงในการประกอบอาชีพ สามารถพึ่งพาตนเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดปัตตานีได้มุ่งเน้นส่งเสริมการรวมกลุ่ม เพื่อการพัฒนาแบบองค์รวมของชุมชนให้มีความเข้มแข็งในอาชีพ ผ่านการถ่ายทอดความรู้ตามหลักวิชาการ ผสมผสานกับองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การนำไปปฏิบัติ ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ลดรายจ่าย เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ สามารถใช้ประโยชน์จากดินและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์แก่เกษตรกรในชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ด้าน นางสาวพนิดา เสสน เกษตรอำเภอปะนาเระ กล่าวว่า สำนักงานเกษตรอำเภอปะนาเระได้เล็งเห็นความสำคัญของถั่วหรั่ง ที่เคยเป็นพืชเสริมเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรแต่เลือนหายจากพื้นที่จังหวัดปัตตานี เนื่องจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงได้ชักชวนเกษตรกร ตำบลพ่อมิ่ง อำเภอปะนาเระ ร่วมกันปลูกถั่วหรั่ง รื้อฟื้นพืชอัตลักษณ์ท้องถิ่น ใช้น้ำน้อย มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมปลูกจำนวน 11 ราย ในพื้นที่กว่า 20 ไร่ โดยกำหนดข้อตกลงของกลุ่มในเรื่องการกำหนดแผนการปลูก วิธีการปลูก การดูแลรักษา การใส่ปุ๋ย การจัดทำธนาคารเมล็ดพันธุ์ และการจำหน่ายร่วมกัน จากนั้นได้ร่วมกับศูนย์วิจัยพืชไร่สงขลา กรมวิชาการเกษตร ศึกษาทดสอบเทคโนโลยีการปลูกที่เหมาะสมกับพื้นที่ จนเกิดเป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ควบคู่กันไป ผลลัพธ์จากการส่งเสริมทำให้มีผลผลิตถั่วหรั่งรวม 16,800 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 672,000 บาท โดยมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อผลผลิตจากหน้าไร่ของเกษตรกรโดยตรงเพื่อนำไปจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียง และจากการสนับสนุนของเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดปัตตานี สำนักงานเกษตรอำเภอปะนาเระ และศูนย์วิจัยพืชไร่สงขลา กรมวิชาการเกษตร ในการประชาสัมพันธ์จำหน่ายผลผลิตผ่านทางออนไลน์ ทำให้ถั่วหรั่งเป็นที่รู้จัก และได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ผลผลิตไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย
เกษตรอำเภอปะนาเระ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการดำเนินงาน ในปี 2566 พบว่า ถั่วหรั่งเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อยทนต่อความแห้งแล้งได้ดี ไม่พบปัญหาโรคและแมลงเข้าทำลาย สามารถเจริญเติบโตได้ดีแม้ในดินที่มีสภาพความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ซึ่งพื้นที่ตำบลพ่อมิ่ง อำเภอปะนาเระ ส่วนใหญ่มีความเหมาะสม เนื่องจากสภาพดินเป็นชุดดินบ้านทอน ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินทรายที่มีชั้นดานอินทรีย์ มีลักษณะความเป็นกรดเล็กน้อยถึงปานกลาง คือ ค่า pH ประมาณ5.5-6.0 มีการระบายน้ำค่อนข้างมาก เป็นดินที่เหมาะสมแก่การปลูกถั่วหรั่ง แต่ควรมีการปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยพืชสดเพิ่มเติมด้วย ในส่วนของเทคนิคการปลูก ทำการเตรียมดินโดยไถพรวนดินพร้อมกำจัดวัชพืชแล้วขุดหลุม ก่อนปลูกรองก้นหลุมด้วยมูลไก่แกลบ ปุ๋ยอินทรีย์ผง คลุกเมล็ดด้วยไรโซเบียม จากนั้นนำเมล็ดถั่วหรั่งหยอดเป็นแถว โดยมีระยะปลูก 50×50 เซนติเมตร หลุมละ 2 เมล็ด 1 เมล็ด และ 2 เมล็ด สลับกันไปจนสุดแถว และแถวถัดไป เริ่มหยอดหลุมแรก 2 เมล็ด 1 เมล็ด และ 2 เมล็ดสลับกันไปจนสุดแถว ทำสลับในลักษณะนี้ทั้งแปลง เพื่อลดความเบียดแน่นของกอถั่วหรั่ง เนื่องจากถั่วหรั่งเป็นพืชใช้น้ำน้อย การให้น้ำจึงอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ เมื่อถั่วหรั่งอายุประมาณ 30 วันหลังปลูก ซึ่งเป็นระยะเริ่มออกดอก จะทำการถอนหญ้าพร้อมพรวนดินและพูนโคนต้นถั่วหรั่ง และใส่ปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 ประมาณหลุมละ 1 ช้อนแกง หลังจากจะนี้เป็นระยะออกดอกและแทงเข็มลงเมล็ด เกษตรกรจะไม่เข้าไปรบกวนในแปลงอีก ทั้งนี้ ช่วงเวลาในการปลูกถั่วหรั่งที่เหมาะสมของอำเภอปานะเระ คือ เดือนกรกฎาคม – สิงหาคม โดยเกษตรกรจะสังเกตสภาพภูมิอากาศช่วงเวลานั้นเป็นองค์ประกอบด้วย การดำเนินงานในปี 2567 หลังจากได้ดำเนินการจัดเวทีชุมชนแล้วพบว่า มีเกษตรกรที่มีความพร้อมต้องการปลูกถั่วหรั่งและเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 40 ราย ในพื้นที่ 60 ไร่ สำหรับเกษตรกรที่สนใจ สามารถหาซื้อพันธุ์ถั่วหรั่งมาปลูกจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ เช่น ศูนย์วิจัยพืชไร่สงขลา กรมวิชาการเกษตร โทร. 074205980
ด้าน นางเจ๊ะวอ มาแฮ เกษตรกรผู้ปลูกถั่วหรั่ง กล่าวว่า ตนเองปลูกถั่วหรั่งในพื้นที่ 2 ไร่ ระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 110 – 120 วัน ได้ผลผลิตฝักสดประมาณ 1,680 กิโลกรัม ขายราคากิโลกรัมละ 40 บาท คิดเป็นรายได้ จำนวน 67,200 บาท ซึ่งมีต้นทุนการผลิตเป็นค่าเตรียมดินและเมล็ดพันธุ์ จำนวน 3,000 บาท ทำให้ได้กำไร จำนวนถึง 64,200บาท (จำหน่ายในลักษณะฝักสดเท่านั้น) และจากการได้รับคำแนะนำจากเกษตรอำเภอปานะเระ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้หลักการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง ส่งผลให้ได้ผลผลิตมากและขายได้ราคาดี ตนเองรู้สึกดีใจมากและภูมิใจมากที่มีรายได้ และมีองค์ความรู้ที่นำมาแลกเปลี่ยนเพื่อนบ้าน โดยมีเทคนิคการปลูกถั่วหรั่ง โดยการสลับแถวในการหยอดของจำนวนเมล็ดต่อหลุมเพื่อให้พุ่มของถั่วหรั่งไม่แน่นเกินไป ทำให้ได้ผลผลิตถั่วหรั่งมากขึ้นและการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกถั่วหรั่ง นอกจากเป็นการรื้อฟื้นพืชอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้กลับมาได้รับความนิยมบริโภคแล้ว ยังทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้น มีความมั่นคงในอาชีพ และส่งผลต่อความสงบสุขในพื้นที่
************************************
กลุ่มเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ : ข่าว
กลุ่มพัฒนาพื้นที่พิเศษ กองส่งเสริมโครงการพระราชดำริ การจัดการพื้นที่และวิศวกรรมเกษตร : ข้อมูล
The post กรมส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมเกษตรกรโครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานี ปลูก “ถั่วหรั่ง” พืชใช้น้ำน้อย สร้างรายได้ appeared first on ศูนย์ข่าวกรมส่งเสริมการเกษตร.