สำหรับคนเมือง ที่มีพื้นที่จำกัด จะปลูกผักได้อย่างไร มีวิธีการอย่างไร« Back to Questions List

Posted by esc2560Admin
Asked on สิงหาคม 8, 2023 10:19 am

สำหรับคนเมือง ที่มีพื้นที่จำกัด จะปลูกผักได้อย่างไร มีวิธีการอย่างไร
การปลูกผักในพื้นที่จำกัด เป็นการปลูกผักในพื้นที่ว่างเพียงเล็กน้อย เพื่อวัตถุประสงค์ไว้รับประทานเอง หรือเป็นงานอดิเรก ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และปัญหาหลายประการด้านมลภาวะ สารตกค้างในอาหารต่างๆ ทำให้ผู้คนนิยมหันมาปลูกผักไว้บริโภคกันเองมากขึ้น เนื่องจากปลอดสารพิษ และลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย และพืชผักเป็นพืชที่ใช้พื้นที่ปลูกน้อย สามารถที่จะปลูกในภาชนะขนาดกะทัดรัด และดูแลได้ง่ายดาย โดยการปลูกผักในพื้นที่จำกัด มีหลากหลายวิธี ทั้งภาชนะที่หาได้ง่าย วัสดุเพาะปลูกในปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลาย ทั้งแบบใช้ดินและไม่ใช้ดิน ทำให้การปลูกผักในพื้นที่จำกัดเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน

ภาชนะที่ใช้ปลูก
ปลูกพืชผักในภาชนะจะสามารถเคลื่อนย้ายได้ และไม่ต้องใช้พื้นที่มาก เช่น การปลูกผักในกระถาง ซึ่งภาชนะมีความหลากหลายทั้งรูปร่างรูปทรง ไม่ว่าจะเป็น กระถางพลาสติก กระถางดินเผา กระถางเคลือบ โอ่งแตก กะละมัง ลังไม้ กล่องโฟม เป็นต้น โดยต้องเลือกให้เหมาะสมกับชนิดของผัก คงทน มีรูสำหรับระบายน้ำ
- ผักใบ เช่น ผักสลัด กวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักชี มีรากยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ควรเลือกภาชนะที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้วขึ้นไป และมีความลึก 10-30 เซนติเมตร
- ผักยืนต้น เช่น พริก กะเพรา มะเขือ ชะอม มีรากยาวมากกว่า 20 เซนติเมตร ควรเลือกภาชนะที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้วขึ้นไป และมีความลึก 50 เซนติเมตร
**การเลือกชนิดผักที่ปลูก ต้องดูความเหมาะสมของพื้นที่ และเลือกปลูกผักที่เราใช้ประกอบอาหารประจำวันเป็นหลักก่อน**

สิ่งที่ควรคำนึงถึงก่อนลงมือปลูกผัก
1. ดินหรือวัสดุปลูก: ต้องมีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืชผัก
2. น้ำ : เป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการหล่อเลี้ยงชีวิตพืช ดังนั้น การเจริญเติบโตของผักขึ้นกับปริมาณน้ำที่เพียงพอและวิธีการให้น้ำที่เหมาะสม
3. แสง : มีความจำเป็นในการปรุงอาหารสำหรับพืช พืชส่วนใหญ่ต้องได้รับแสงอย่างน้อยวันละ 4 ชั่วโมง บางชนิดสามารถปรับตัวในที่ร่มรำไรได้ เช่น ชะพลู สะระแหน่ กะเพรา ดังนั้น ควรสำรวจสภาพพื้นที่ว่าสามารถรับแสงได้มากน้อยเพียงใดก่อนการเลือกชนิดพืชผักมาปลูก
4. ธาตุอาหารพืช : พืชจำเป็นต้องใช้ธาตุอาหารในการเจริญเติบโต โดยธาตุหลักที่พืชต้องการ คือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโปแตสเซียม (K) นอกจากนี้ ยังมีธาตุอาหารรองที่แม้จะใช้ปริมาณน้อย แต่ก็ขาดไม่ได้เช่นกัน เช่น แคลเซียม โบรอนแมกนีเซียม เป็นต้น

การเตรียมดิน
การเตรียมดินสำหรับปลูกในกระถาง แนะนำให้ใช้สูตร ดังนี้
- ดิน 1 ส่วน
- ขุยมะพร้าวหรือขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน
- ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1 ส่วน ความชื้น 80 %
ผสมส่วนผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วรดน้ำให้มีความชื้นประมาณ 80% หรือลองใช้มือกำ แล้วดินเกาะตัว
เป็นก้อน ไม่แตกหรือเหนียวติดมือ เป็นอันใช้ได้

การปลูกผักบนพื้นดิน หรือแปลงปลูก ในกรณีที่มีพื้นที่เพียงพอ
- ให้ทำการพรวนดินตากแดดไว้ประมาณ 7-15 วัน
- จากนั้นยกแปลงสูง 4-5 นิ้ว กว้างประมาณ 1-1.2 เมตร ความยาวขึ้นกับพื้นที่หรือความต้องการ
การวางแปลงควรให้อยู ่ในแนวทิศเหนือ-ใต้ เพื่อให้ผักได้รับแสงแดดทั่วแปลง
- ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักจำนวน 2 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร คลุกเคล้าให้ทั่ว ก่อนทำการปลูกผัก

ข้อควรระมัดระวังในการให้น้ำ
พืชผัก เป็นพืชอายุสั้น ระบบรากตื้น จึงต้องมีการให้น้ำสม่ำเสมอ โดยรดน้ำ เช้า - เย็น
ข้อควรระวังในการให้น้ำพืชผัก
- ระวังอย่าให้น้ำจนแฉะเกินไป
- ไม่ควรดน้ำตอนแดดจัด เนื่องจากน้ำเป็นสื่อกลางนำอุณหภูมิที่สูง ทำให้พืชผักเสียหาย เหี่ยวตายได้
- ผักเป็นพืชบอบบางการให้น้ำที่รุนแรง อาจทำให้พืชผักช้ำ และเกิดรอยแผลทำให้เชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่าย

การให้ปุ๋ย
หากเราปลูกพืชในกระถางหรือภาชนะ ธาตุอาหารจากปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักอาจไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องใส่ปุ่ยวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมบ้าง โดยทั่วไปมักใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือปุ๋ยสูตรเสมอ
ข้อแนะนำในการใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์สูตร 15-15-15 หรือสูตรเสมอ
ใส่ครั้งแรก: เมื่อย้ายกล้าปลูกจนกล้าสามารถตั้งตัวได้ประมาณ 7 วัน
ใส่ครั้งที่สอง: ใส่ห่างจากครั้งแรกประมาณ 2-3 สับดาห์
วิธีการ
- การใส่ให้โรยบางๆ ข้างต้น (ระหว่างแถว) ไม่ควรใส่ชิดต้น
- จากนั้นทำการพรวนดินกลบ แล้วรดน้ำตาม

การป้องกันกำจัดศัตรูพืชสำหรับการปลูกผักแบบคนเมือง
การปลูกพืชผักสวนครัวจะแตกต่างจากการปลูกผักเพื่อการค้า ในเรื่องปริมาณการผลิต ซึ่งพืชผักสวนครัว จะเป็นการปลูกเพื่อการบริโภค ศัตรูพืชที่พบอาจจมีปริมาณน้อย จึงขอแนะนำวิธีกำจัด ที่ง่ายและปลอดภัย ดังนี้
- แมลงและสัตว์ศัตรูพืช: วิธีการกำจัดแมลงที่ดีและปลอดภัยที่สุด คือ ใช้วิธีสำรวจ สังเกต แล้วกำจัดด้วยมือ (เก็บไปทิ้งหรือทำลาย)
- โรคพืช: การปลูกผักสวนครัว ไม่ควรปลูกพืชจนแน่นหรือชิดเกินไป ควรให้พืชได้รับแสง
อย่างทั่วถึง มีการระบายอากาศที่ดีจะเป็นการป้องกันโรคได้ระดับหนึ่ง หากพบผักที่ปลูกเป็นโรคให้ทำการถอน
ไปทิ้งหรือทำลาย นอกพื้นที่การเพาะปลูกเพื่อป้องกันการระบาดในสวน
- วัชพืช: หากมีวัชพืช หรือมีหญ้าขึ้น ต้องทำการถอนทิ้ง เพื่อป้องกันการแย่งน้ำและธาตุอาหารกับพืชผัก และไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของโรคและแมลง

การเก็บเกี่ยวพืชผัก
การเก็บเกี่ยวพีชผัก ควรเก็บเกี่ยวในเวลาเช้า โดยให้เก็บตามอายุการเก็บเกี่ยวที่ระบุตามชนิดและสายพันธุ์
ผักใบ สามารถเก็บรับประทานได้ทุกระยะ แต่ไม่ควรเกินอายุการเก็บเกี่ยวของพืช เพราะผักจะแก่ เหนียว มีเส้นใยมากและเสียรสชาติ
ผักบางชนิคสามารถเกี่ยวได้มากกว่า 1 ครั้ง เช่น ผักบุ้ง หอมแบ่ง กุยช่าย หลังตัดใบแล้ว เหลือลำต้น
และราก ก็จะสามารถให้ผลผลิตได้อีกครั้ง หรือกะหล่ำปลี เมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว ทำการบำรุงใส่ปุ๋ย ให้น้ำ ก็จะสามารถให้ผลผสิตเป็นกิ่งแขนงกะหล่ำได้

ข้อแนะนำอื่นๆ สำหรับการปลูกผักคนเมืองหรือปลูกในพื้นที่จำกัด
- หากมีพื้นที่ได้รับแสงน้อย ให้เลือกพืชผักที่ไม่ต้องการแสงมาก เช่น ชะพลู วอเตอร์เครส สะระแหน่ ผักชี ขึ้นฉ่าย เป็นต้น
- หากมีพื้นที่แคบมากสามารถทำสวนแนวตั้ง ปลูกขึ้นซุ้มเป็นทางเดิน หรือทำเป็นภาขนะแขวน
- หากอยู่คอนโดมิเนียม มีเพียงระเบียงเล็ก ๆ แสงส่องไม่ถึง แนะนำการเพาะผักงอก หรือต้นอ่อนพืช ซึ่งไม่ต้องการแสง ใช้พื้นที่น้อย และไม่เลอะเทอะ

Posted by ศูนย์วิทยบริการเพื่อส่งเสริมการเกษตร
Answered On สิงหาคม 8, 2023 10:20 am