สํานักงานเกษตรจังหวัดนครสวรรค์ จัดงานวันรณรงค์การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังและประชาสัมพันธ์การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง

วันที่ 4 เมษายน 2568 เวลา 10.30 น. สํานักงานเกษตรจังหวัดนครสวรรค์ จัดงานวันรณรงค์การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังและประชาสัมพันธ์การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตพืชเศรษฐกิจหลัก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (งบพัฒนาจังหวัดนครสวรรค์) โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์เป็นประธาน หัวหน้าส่วนราชการ และเกษตรกร เข้าร่วมงานมากกว่า 200 ราย ณ วัดโคกขามสามัคคีธรรม ตำบลอุดมธัญญา อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์

ทั้งนี้ จังหวัดนครสวรรค์ มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ประมาณ 4 แสนไร่ ปริมาณผลผลิตมันสำปะหลัง ประมาณ 1.6 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 3.53 ตัน แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรยังประสบปัญหาด้านระบบการผลิต โดยเฉพาะการขาดแคลนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ดี ดินเสื่อมคุณภาพ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตที่ไม่ถูกต้อง ทําให้มีการระบาดของโรคใบด่างมันสําปะหลังในพื้นที่จำนวน 10,317 ไร่ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผลผลิตลดลง ดังนั้น จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตพืชเศรษฐกิจหลัก กิจกรรมหลักเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสําปะหลังคุณภาพดี โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังให้เพิ่มมากขึ้น และการจัดทําแปลงผลิตพันธุ์มันสำปะหลังคุณภาพดี เพื่อลดจำนวนโรคใบด่างมันสําปะหลังในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์

กิจกรรมต่างๆ ภายในงาน ประกอบด้วย
1. การฟังบรรยาย เรื่อง เทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังคุณภาพดี โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครสวรรค์
2. การฟังบรรยาย เรื่อง การผลิตท่อนพันธุ์ มันสำปะหลังสะอาด โดยศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์
3. การจัดกิจกรรมสถานีเรียนรู้ ได้แก่
สถานีเรียนรู้ที่ 1 สภาพดินที่เหมาะสมกับการปลูกมันสำปะหลัง
สถานีเรียนรู้ที่ 2 การใช้เครื่องจักรกลที่เหมาะสมกับการเตรียมดิน
สถานีเรียนรู้ที่ 3 การผลิตมันสำปะหลังคุณภาพดี
สถานีเรียนรู้ที่ 4 การจัดการน้ำในแปลงปลูกมันสำปะหลัง
สถานีเรียนรู้ที่ 5 การบริหารจัดการผลผลิตและการตลาด
4. การฝึกปฏิบัติการขยายพันธุ์มันสำปะหลังแบบเร่งรัด (X20 และ X80)

นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงผลงานของหน่วยงานภาคเอกชนในพื้นที่ และการจำหน่ายสินค้าเกษตรคุณภาพอีกด้วย

SOCIALICON
Facebook
Twitter
Instagram
ติดต่อเรา
Skip to content