การฟื้นฟูแปลงผักหลังน้ำลด
“พืชผัก” มีอายุสั้น ระบบรากตื้น เติบโตได้ดีในดินร่วน ระบายน้ำดี มีความเป็นกรดเล็กน้อย การเกิดน้ำท่วมขัง แม้ระยะเวลาสั้น ๆ ก็ก่อให้เกิดความเสียหายกับพืชผักได้แล้ว โดยเฉพาะผักใบ และหากมีน้ำท่วมขังเกิน 5 วัน พืชผักจะตายทั้งแปลง เมื่อน้ำลดจะยังไม่สามารถปลูกผักได้ทันที ต้องมีการฟื้นฟูสภาพดินให้เหมาะสมก่อน
เมื่อน้ำลดแล้วควรปฏิบัติ ดังนี้
1. หากน้ำท่วมเฉพาะบริเวณแปลงผัก ให้ระบายน้ำออกจากแปลงโดยเร็วที่สุด
2. หลังน้ำลด หากหน้าดินยังเปียกอยู่ ห้ามเข้าไปเหยียบย่ำหรือนำเครื่องจักรกลเข้าไปในแปลง เนื่องจากจะทำให้ดินอัดตัวกันแน่นขึ้น
3. เมื่อหน้าดินแห้ง พรวนดินและตากดินไว้ 2-3 วัน จากนั้นใช้ปูนขาวหรือโดโลไมท์ โรยทั่วแปลงและคลุกเคล้าดิน เพื่อปรับความเป็นกรดด่างของดิน (อัตรา 200-500 กก. ต่อไร่) ทิ้งไว้ประมาณ 10 วัน
4. ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาผสมกับปุ๋ยหมักคลุกเคล้ากับวัสดุปลูกรองก้นหลุมเพื่อควบคุมเชื้อสาเหตุโรคพืช
5. อาจปลูกปุ๋ยพืชสด เช่น ปอเทืองหรือถั่วพร้า แล้วไถกลบช่วงออกดอกเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้ดิน ทิ้งไว้ให้ย่อยสลายก่อนแล้วจึงค่อยเตรียมแปลงปลูกก็ได้
แนวทางการปลูกพืชผัก เพื่อป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมขัง
- พื้นที่ลุ่ม : เนื่องจากเป็นพื้นที่เกิดน้ำท่วมขังง่าย ระบายน้ำไม่ดี จึงควรทำแปลงผักแบบยกร่องมีคูน้ำและมีคันดินกั้น
- พื้นที่ดอน : อาจเกิดน้ำท่วมขังได้เป็นครั้งคราว อาจไม่จำเป็นต้องยกร่อง แต่ควรแบ่งพื้นที่เป็นแปลงย่อย ความยาวแปลงตามขนาดพื้นที่
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : https://bit.ly/48HwaaH
เรียบเรียงโดย : สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กรมส่งเสริมการเกษตร
ลิงก์ข้อมูลเพิ่มเติม : https://bit.ly/4bchIZ1