น้ำจากทะเล กว่าจะมาเป็นเกลือที่บริโภคได้ ต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง
1. ก่อนถึงฤดูทำนาเกลือ ชาวนาจะไขน้ำเข้าไปเก็บไว้ในวังขังน้ำ เพื่อลดสิ่งเจือปนในน้ำ
2. เมื่อถึงฤดูทำนาเกลือ จะเริ่มระบายน้ำทะเลจากวังขังน้ำเข้าสู่นาตาก ให้น้ำระเหยไปบ้าง โดยอาศัยแสงแดดและกระแสลม
3. ระบายน้ำจากนาตากเข้าสู่นาเชื้อและปล่อยน้ำระเหยไปอีก จนมีความเค็มอยู่ที่ 20-23 ดีกรี
4. ระบายน้ำจากนาเชื้อเข้าสู่นาปลง (ระยะเวลาตั้งแต่การระบายน้ำเข้าสู่นาตากจนถึงนาปลงประมาณ 45 วัน)
5. หลังจากการระบายน้ำเข้าสู่นาปลง 2 วัน ความเค็มที่ 23-25 ดีกรี ผลึกเกลือแกงจะตกลงมาและมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกลือจะเริ่มจับตัวกันหนาขึ้น ระหว่างนี้ชาวนาจะระบายน้ำจากนาเชื้อเข้าสู่นาปลงอย่างสม่ำเสมอ
6. โดยทั่วไปจะปล่อยให้เกลือแกงตกผลึกในนาปลง 15-45 วัน จึงรื้อเกลือ แซะเกลือ หรือแยกเกลือออก ตัดเป็นกองให้น้ำไหลออกแล้วจึงเก็บเกลือเข้ายุ้ง โดยเกลือแกงที่ได้จะมีผลผลิตประมาณ 4-9 ตัน/ไร่ หรือ 2.5-6 กิโลกรัม/พื้นที่นา 1 ตารางเมตร
ทั้งนี้ อาชีพนาเกลือเป็นอาชีพเก่าแก่อาชีพหนึ่งของโลกและของคนไทย ในปี 2554 รัฐบาล ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอาชีพการทำนาเกลือ จึงมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้การทำนาเกลือในส่วนที่เป็นเกลือทะเล (เกลือสมุทร) เป็นเกษตรกรรม ผู้ทำนาเกลือทะเลจึงเป็นเกษตรกร และให้เกษตรกรผู้ผลิตเกลือทะเลหรือชาวนาเกลือ ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา
โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านเกลือทะเลไทย มีความเหมาะสมชัดเจน ครอบคลุม และสอดคล้องกับบริบทการดำเนินงานในปัจจุบัน และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล