กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการจัดการสวนไม้ผลเมื่อถูกน้ำเค็มรุก

นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่าจากการรายงานสถานการณ์ค่าความเค็มรายวันในบริเวณลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ท่าจีน เจ้าพระยา และบางปะกงของกรมชลประทานและกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า พื้นที่การเกษตร ใน 9 จังหวัด อาจได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มรุก ประกอบด้วย จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี ราชบุรี ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคม 2567 พบว่ามีพื้นที่คาดว่าได้รับผลกระทบสถานการณ์น้ำเค็มรุกพื้นที่เกษตรใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสมุทรสงคราม โดยจังหวัดดังกล่าวยังคงต้องเฝ้าระวังการใช้น้ำในพื้นที่ที่อาจส่งผลกระทบต่อสวนไม้ผล ไม้ดอกและพืชผักต่อไป (ข้อมูลรายงานสถานการณ์ ณ วันที่ 26 มีนาคม 2567)

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่าถึงแม้ความเค็มค่ามาตรฐานที่พืชรับได้ไม่เกิน 1.2 กรัม/ลิตร (ทั้งนี้ ไม้ผลแต่ละชนิดมีความสามารถทนความเค็มได้แตกต่างกัน) เนื่องจากน้ำเค็มจะส่งผลให้เกิดความเครียดในต้นไม้ผล และส่งผลต่อการดูดซึมน้ำของพืช (กระบวนการออสโมซิส) โดยดินที่มีค่าความเค็มสูง น้ำในรากพืชจะไหลย้อนกลับไปสู่ดิน ทำให้พืชขาดน้ำและไม่สามารถดูดธาตุอาหารต่าง ๆ ในดินไปใช้ในการเจริญเติบโตได้ ส่งผลให้รากไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่ เกิดอาการใบและขอบใบไหม้ ยับยั้งการออกดอก ทำให้พืชอ่อนแอ และทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงในที่สุด ดังนั้น เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงจึงควรเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์หรือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับไม้ผล เพื่อลดความเสียหากเกิดน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเค็มรุกพื้นที่เกษตร ดังนี้

1) ติดตามสถานการณ์เตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน และกรมส่งเสริมการเกษตรอย่างใกล้ชิด

2) ตรวจวัดความเค็มของน้ำใช้ภายในสวนผลไม้อย่างสม่ำเสมอ

3) ปิดประตูระบายน้ำในสวนตนเอง พร้อมสำรองน้ำและอุดรูรั่วตามแนวคันสวนโดยรอบเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเค็มเข้าร่องสวน

4) ขุดสร้างคันดินล้อมรอบสวนเพื่อป้องกันการรุกของน้ำเค็ม

5) ลอกเลนตามร่องสวนออก เพื่อเพิ่มพื้นที่การเก็บกักน้ำและดึงน้ำจากดินชั้นล่างให้ไหลออกมาใช้ได้ และกักเก็บน้ำจืดมาพักในบ่อหรือท้องร่องให้ได้มากที่สุด

6) ดูแลการเขตกรรมในสวนอย่างใกล้ชิด ด้วยการตัดแต่งกิ่งที่ไม่จำเป็นออก เพื่อลดการคายน้ำ ไม่ปลูกพืชใช้น้ำมากในช่วงนี้ และใช้วัสดุคลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชื้นของหน้าดิน เช่น เศษใบไม้ใบหญ้า ฟางข้าว ตอต้นกล้วย เป็นต้น รวมถึงการปรับระบบการให้น้ำน้อยลงแต่ถี่ขึ้น เช่น ระบบมินิสปริงเกลอร์ เป็นต้น

7) จัดหาแหล่งน้ำสำรอง เพื่อเก็บน้ำจืดจากแม่น้ำหรือกักเก็บน้ำธรรมชาติ หรือขุดบ่อบาดาลเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรอง (สำหรับบางพื้นที่ควรวัดค่าความเค็มของน้ำบาดาลก่อนนำมาใช้)

8) กรณีน้ำเค็มเข้าสวนแล้วให้รีบระบายน้ำเค็มออกจากแปลงปลูกให้หมด แล้วจัดหาน้ำจืดมาให้แก่ต้นไม้ผล เพื่อช่วยให้ต้นไม้ผลมีชีวิตอยู่รอด อีกทั้งยังช่วยล้างความเค็มของดินออกไปอีกด้วย

9) กรณียังเป็นต้นไม้เล็ก ให้ทำการพรางแสงเพื่อช่วยลดอุณหภูมิที่ผิวดินและลดการคายน้ำของพืช

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตรแบบรายวันได้ด้วยตนเอง โดยใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศจากเว็บไซต์กรมส่งเสริมการเกษตร https://www.doae.go.th/ข้อมูลสถานการณ์น้ำเค็ม/ เพื่อเตรียมการ ป้องกัน บรรเทาผลกระทบ ลดความเสียหายจากน้ำเค็มรุกพื้นที่การเกษตรของท่าน

*************************

กองส่งเสริมโครงการพระราชดำริ การจัดการพื้นที่และวิศวกรรมเกษตร, สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร, ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร : ข้อมูล

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : จิราพัชร์, ข่าว

The post กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการจัดการสวนไม้ผลเมื่อถูกน้ำเค็มรุก appeared first on ศูนย์ข่าวกรมส่งเสริมการเกษตร.

Facebook
Twitter
Instagram
SOCIALICON
Skip to content