เปิดมาตรการป้องกันทุเรียนอ่อน ตรวจก่อนตัด จังหวัดจันทบุรี ปี 2566

จังหวัดจันทบุรี เป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญและเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีปริมาณทุเรียนออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก และในแต่ละปีพบว่ามีการตัดทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) คละปนออกมาสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และเศรษฐกิจของจังหวัดจันทบุรี ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อผู้บริโภคและต่อการค้าขายทุเรียน ทั้งในและต่างประเทศ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้เน้นย้ำให้ความสำคัญในการควบคุมและป้องกันทุเรียนอ่อนทุเรียนด้อยคุณภาพเพื่อให้ผลผลิตทุเรียนที่จะทำการส่งออกต้องได้คุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานการส่งออกที่กำหนด ในปี 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เพิ่มความเข้มข้นในการป้องปรามปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ โดยให้ทุกหน่วยในสังกัดมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน

            ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้เป็นต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออก ซึ่งมีปัจจัยด้านราคาเป็นแรงจูงใจทำให้เกษตรกรบางรายกระทำความผิด เร่งตัดทุเรียนจำหน่ายก่อน จึงได้ขอความร่วมมือไปยังเกษตรกร มือตัดทุเรียน และสถานประกอบการ (ล้ง) ที่จะส่งออกในการคุมเข้มไม่ตัดและไม่รับซื้อทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ทั้งนี้ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีได้มีการกำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาดฤดูกาลผลิต ปี พ.ศ. 2566 เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติแก่เกษตรกร ผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้บริโภคให้เกิดความเป็นธรรม ตลอดจนเสริมสร้างภาพลักษณ์ผลไม้คุณภาพดีของจังหวัดจันทบุรี ให้เป็นที่รู้จักและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค ดังนี้

(1) ประกาศจังหวัดจันทบุรี เรื่อง การกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน จังหวัดจันทบุรี ได้กำหนดระดับความอ่อนแก่ของทุเรียน ด้วยวิธีการตรวจสอบเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน โดยใช้ค่ามาตรฐานเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนของกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 3-2556 ซึ่งกำหนดค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนขั้นต่ำ สำหรับการบริโภคในแต่ละสายพันธุ์ ดังนี้

1) พันธุ์กระดุม ไม่น้อยกว่า 27 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง

2) พันธุ์ชะนีและพวงมณี ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง

3) พันธุ์หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 32 เปอร์เซ็นต์น้ำหนัก

ถ้าเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งต่ำกว่านี้ ถือว่าเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน)

(2) กำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนและวันเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูกาลทุเรียนของจังหวัดจันทบุรีในฤดูกาลผลิต ปี พ.ศ. 2566

ได้กำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนและวันเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูกาลทุเรียนของจังหวัดจันทบุรี ในฤดูกาลผลิต ปี พ.ศ. 2566 ในแต่ละสายพันธุ์ ดังนี้

1) พันธุ์กระดุมและพันธุ์พวงมณี วันที่ 10 มีนาคม 2566

2) พันธุ์ชะนี วันที่ 20 มีนาคม 2566

3) พันธุ์หมอนทอง วันที่ 15 เมษายน 2566

(3) ประกาศจังหวัดจันทบุรี เรื่อง ขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการตรวจก่อนตัดของจังหวัดจันทบุรี

โดยขอความร่วมมือจากเกษตรกร มือตัด จุดบริการตรวจก่อนตัด โรงคัดบรรจุ (ล้ง) เจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบคุณภาพก่อนปิดตู้ส่งออก (ทีมเล็บเหยี่ยว) และแผงรับซื้อทุเรียนในตลาดค้าส่ง ให้ปฏิบัติดังนี้

  1. เกษตรกรและมือตัดทุเรียน นำตัวอย่างทุเรียนไปตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ก่อนตัดอย่างน้อย 3 วัน
  2. จุดบริการตรวจก่อนตัด ออกหนังสือรับรองผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน
  3. สถานประกอบการโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ขอหนังสือรับรองผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนจากเกษตรกรหรือมือตัด ทุกครั้งที่รับซื้อทุเรียน
  4. ชุดปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพก่อนปิดตู้ส่งออก (ทีมเล็บเหยี่ยว) ขอหนังสือรับรองผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน และให้ลงชื่อกำกับในหนังสือรับรองผลฯ ในแต่ละรอบของการตรวจสอบคุณภาพก่อนปิดตู้ส่งออก
  5. แผงรับซื้อทุเรียนในตลาดค้าส่ง ต้องขอหนังสือรับรองผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน จากผู้ที่นำทุเรียนมาขาย เพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ฯ ที่มาตรวจแผงรับซื้อ

                          หากไม่มีหนังสือรับรองผลการตรวจ เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนและมีการตรวจพบทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ทั้งในรถบรรทุก ในแผงรับซื้อและในล้ง จังหวัดจันทบุรี จะใช้มาตรการทั้งทางการปกครองและทางกฎหมาย เพื่อดำเนินการลงโทษกับผู้กระทำผิดต่อไป

(4) จุดบริการตรวจก่อนตัดสำหรับพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี         

  1. เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน มือตัด สามารถนำทุเรียนเข้าร่วมจุดบริการตรวจก่อนตัดได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ ตั้งแต่วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น.
  2. ส่วนราชการและหน่วยงานอื่น ๆ ที่สนับสนุนจุดบริการตรวจก่อนตัดสำหรับเกษตรกร (ในวันและเวลาราชการ) มีดังนี้
  3. มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณีจันทบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี เริ่มให้บริการตั้งแต่ 20 มีนาคม 2566 และมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม – 10 เมษายน 2566 
  4. อำเภอเขาคิชฌกูฏ (เทศบาลทุกเทศบาล) เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566
  5. อำเภอท่าใหม่ (เทศบาลตำบลเนินสูง เทศบาลตำบลหนองคล้า เทศบาลตำบลเขาบายศรี เทศบาลตำบลสองพี่น้อง  องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งเบญจา องค์การบริหารส่วนตำบลเขาแก้ว) เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2566 ไม่เว้นวันหยุดราชการ*
  6. อำเภอนายายอาม (เทศบาลตำบลช้างข้าม) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 เป็นต้นไป

            * หมายเหตุ เกษตรกรต้องนำตัวอย่างทุเรียนมาส่งก่อนเวลา 15.00 น.*

ทั้งนี้ จะมีการตรวจก่อนตัดตลอดฤดูกาล โดยจุดบริการตรวจก่อนตัด เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 จนถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2566

            นอกจากนี้ มาตรการในส่วนของจังหวัดจันทบุรียังได้กำหนดตราสัญลักษณ์เพื่อสร้างความเชื่อถือให้แก่สินค้าผลไม้จังหวัดจันทบุรีและส่งเสริมภาพลักษณ์ของสินค้าผลไม้ รับรองผู้ประกอบการค้าผลไม้จันทบุรีที่ได้รับมาตรฐานและมีธรรมาภิบาลขึ้นเพื่อใช้เป็นตราสัญลักษณ์ในการสร้างความเชื่อถือให้แก่สินค้าผลไม้จังหวัดจันทบุรี และส่งเสริมสัญลักษณ์ของสินค้าผลไม้จังหวัดจันทบุรีให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น  โดยทางจังหวัดได้ออกระเบียบจังหวัดจันทบุรีว่าด้วยการใช้ตราสัญลักษณ์รับรองผู้ประกอบการค้าผลไม้จันทบุรีที่ได้รับมาตรฐานและมีธรรมาภิบาล ได้แก่ ระเบียบจังหวัดจันทบุรีว่าด้วยการใช้ตราสัญลักษณ์รับรองผู้ประกอบการค้าและผลิตภัณฑ์ “จันท์การันตี” ( Chan Guarantee ) พ.ศ. 2566 ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้เจ้าหน้าที่ลงไปให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในจังหวัด นอกเหนือจากการผลิตทุเรียนคุณภาพให้ได้มาตรฐาน GAP แล้ว ยังสนับสนุนให้เกษตรกรยื่นคำขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์รับรองผู้ประกอบการค้าและผลิตภัณฑ์ “จันท์การันตี” สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทุเรียนของจังหวัดจันทบุรีอีกทางหนึ่งด้วย

The post เปิดมาตรการป้องกันทุเรียนอ่อน ตรวจก่อนตัด จังหวัดจันทบุรี ปี 2566 appeared first on ศูนย์ข่าวกรมส่งเสริมการเกษตร.

Facebook
Twitter
Instagram
SOCIALICON
Skip to content