ไวรัสใบด่างในมะเขือ
ลักษณะอาการ
อาการเริ่มแรกพบใบยอดอ่อนเหลืองทีละยอด จนเหลืองหมดทั้งต้น ผลของมะเขือเป็นสีเหลืองด่าง ต้นชะงักการเจริญเติบโต มีอาการที่พบในส่วนอื่น ๆ ของพืช เช่น ผลผลิตบิดเบี้ยว ขนาดเล็กกว่าปกติ แต่ถ้าเกิดกับมะเขือที่ยังเล็กและไม่สมบูรณ์ จะไม่ให้ผลผลิตเลย หากทิ้งไว้นานจำนวนต้นที่เป็นโรค จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาการเหล่านี้เกิดหลังจากแมลงพาหะ คือ เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน และแมลงหวี่ขาว เข้าทำลายพืช
วิธีป้องกันกำจัด
1. ใช้พันธุ์ต้านทานโรค
2. คัดเลือกกล้ามะเขือที่แข็งแรงและไม่เป็นโรคมาปลูก
3. หมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูกเพื่อลด แหล่งสะสมของเชื้อไวรัสและแมลงพาหะ เช่น สาบแร้งสาบ กา กะเม็ง หญ้ายาง กระทกรกลำโพง โทงเทง และขี้กาขาว
4. ตรวจแปลงสม่ำเสมอ ถ้าพบต้นที่เป็นโรค ถอนแล้ว นำไปทำลายนอกแปลงปลูก
5. เชื้อไวรัสสาเหตุโรคพืช ยังไม่มีสารป้องกันกำจัดโดยตรง แต่ป้องกันการระบาดของโรคได้ โดยพ่นสารฆ่าแมลงหวี่ขาวยาสูบ ซึ่งเป็นพาหนะนำโรค เช่น บูโพรเฟ ซิน 40% SC อัตรา 25 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟลอนิคามิด 50% WG อัตรา 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สไปโรเตตระแมท 15% OD อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไซแอนทรานิลิโพรล 10% OD อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไบเฟนทริน 2.5% EC อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 15 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ น้ำมันปิโตรเลียม เช่น ไวต์ออยล์ 67% EC อัตรา 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
6. ไม่ปลูกพืชที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อสาเหตุโรค ได้แก่ พืชตระกูลแตง ตระกูลถั่ว ตระกูลมะเขือ พริก ขึ้นฉ่าย ยาสูบ งา กะเพราขาว ตำลึง หงอนไก่ บานไม่รู้โรย และทานตะวัน เป็นต้น ใกล้แปลงปลูกมะเขือ
7. แปลงที่พบการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยว ผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก และไม่ปลูกมะเขือซ้ำ ควรปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่พืช อาศัยของเชื้อสาเหตุโรค
เรียบเรียงโดย : กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดชลบุรี
ลิงก์ข้อมูลเพิ่มเติม : https://esc.doae.go.th/ไวรัสใบด่างในมะเขือ/